เรื่องและสัมภาษณ์: พรรณพร อัชวรานนท์
จากคอลัมน์ “ก้าวที่แตกต่าง” (TSVD: opnmnd Magazine #1 รักษ์โลก)
“ก่อนจะทิ้งขยะซักชิ้น พี่เคยคิดมั้ยว่า เราทำอะไรลงไปอยู่? แล้วคิดต่อบ้างมั้ย? ว่าจะเกิดผลกระทบอะไรตามมาจากขยะชิ้นเดียวของเรา?”
น้องใหม่.. สาวแนวแห่งเมืองชตุทท์การ์ท (Stuttgart) บุคคลที่ใครๆมักจะขนานนามในความไม่เหมือนใครของเธอ ถามเราให้(อึ้ง…) คิด ก่อนจะเริ่มบทสนทนาในวันนี้..
เราได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนะกับหนุ่มสาวชาวแนวแห่งเมืองชตุทท์การ์ท นั่นคือ น้องใหม่ กิตติยา เอี่ยมทัศนะ และ สุเมธ ขันแก้วผาบ หรือ น้องใหญ่ นั่นเอง ปัจจุบันทั้งสองกำลังศึกษาปริญญาโทสาขาหายาก WASTE: Air Quality Control, Solid Waste and Waste Water Process Engineering ที่มหาวิทยาลัย ชตุทท์การ์ทโดยสาขาหลักที่ทั้งสองมุ่งเน้นคือ “ขยะ” (Solid Waste) สิ่งที่ดูเหมือนไม่มีค่า หากแต่ถ้าฟังทั้งสองเล่าแล้วเราแทบจะหันกลับไปมองในถังขยะ ไม่ก็หยิบขยะแต่ละชิ้นออกมาจ้องกันเลยทีเดียว…
“ผมอยากได้ตังค์ครับพี่” เราแอบงงกับประโยคเริ่มต้นของน้องใหญ่ ก่อนจะเขาเริ่มอธิบายกระบวนความคิดสุดแหวกแนวให้เราฟัง “อะไรที่เราทิ้งมักจะเป็นของที่เราคิดว่าไม่มีค่าแล้วใช่มั้ยพี่? แต่การเอาคุณค่าจากของที่คนคิดว่าไม่มีค่าอะ ต้นทุนตํ่านะพี่” (เออ… แฮะ คิดได้)
น้องใหญ่เล่าให้เราฟังว่าตนเองเลือกเรียนทางวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปริญญาตรีที่สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT: Sirindhorn International Institute of Technology, Thammasat University) แล้วสนใจเรียนต่อปริญญาโทสาขาดังกล่าว เลยค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตพบว่าสาขานี้สำหรับปริญญาโท มีการเรียนการสอนในประเทศเยอรมนีแค่ในเมืองชตุทท์การ์ทเท่านั้น(ของหายากจริง) หนุ่มของเราเลยดั้นด้นด้วยความตั้งใจเต็มเปี่ยมมาที่นี่ แล้วก็ไม่ผิดหวัง เพราะน้องใหญ่แจงว่าสมัยที่เรียนสาขานี้ที่เมืองไทย เราเรียนจากภาพ กราฟ ตารางที่อาจารย์สอนหรือเห็นในอินเตอร์เน็ต เหมือนการเรียนทั่วไป แต่พอได้มีโอกาสมาเรียนที่นี่ ตนได้เห็นสิ่งที่เป็นรูปธรรม เห็นของจริงที่ชัดเจนเห็นที่มาที่ไป เพราะมาอยู่ในแหล่งซึ่งมีเทคโนโลยีที่ดีสนับสนุน ทั้งเป็นแหล่งที่ไม่คิดอย่างเดียวแต่ลงมือทำด้วย
ส่วนน้องใหม่บอกว่าเธอจบทางวิศวกรรมเคมีจากสถาบันเดียวกันกับพี่ใหญ่ หากแต่เมื่อมีโอกาสคุยกับรุ่นพี่อีกท่านหนึ่งที่เรียนเกี่ยวกับขยะมาก่อน เธอก็รู้สึก “ถูกจริต” (อย่างบอกไม่ถูก) กับสาขานี้ขึ้นมาเป็นพิเศษ นอกจากนั้นยังสามารถนำความรู้ทางเคมีที่เธอร่ำเรียนมาใช้ประกอบกันได้ด้วย เธอกล่าวว่าเมื่อมีโอกาสได้มาเรียนสาขานี้ จากแค่ความสนใจตั้งต้นก็แปรเปลี่ยนมาเป็น “ใส่ใจ” มากขึ้น พร้อมกับแจงคำถามยอดฮิตที่มักสงสัยกันบ่อย นั่นคือทำไมชาวตะวันตกโดยเฉพาะคนเยอรมันถึงสามารถมีระบบการจัดการขยะได้ดี แต่เราคนไทยกลับไม่มีหรือถ้ามีก็แลดูล้าหลัง? เธอตอบ (อย่างให้กำลังใจ) ว่าไม่ใช่ว่าเราทำไม่ได้แต่เราเริ่มช้ากว่าเขาเพราะเรามีช่วงเวลาที่ต่างกัน โดยท้าวความไปตั้งแต่สมัยปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป เมื่อเขามีการพัฒนาและเริ่มสร้างความเจริญมาก่อนเรา ทรัพยากรก็ถูกใช้ไปมากบ้านเมืองเริ่มเกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม นํ้าเน่าไปหลายสาย อากาศเป็นพิษมาก่อนเรา
ขณะที่ในเวลาเดียวกันเรากำลังเริ่มสร้างตัวเท่านั้น (จริงๆ ก็เริ่มส่งผลกระทบทีละนิดแล้ว)ปัญหาคือเมื่อเริ่มมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แล้วตามมากระทบชีวิตของมนุษย์แล้วเราถึงเริ่มจะหันมาใส่ใจกันมากขึ้น น้องใหญ่ยังเสริมว่าองค์ความรู้เรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมของชาวตะวันตกก็เกิดจากความผิดพลาดมาก่อน เขาจึงค่อยเรียนรู้และแก้ไข ซึ่งบ้านเรายังไม่เจอเต็มๆ หรือหากมีก็เกิดแต่ในบางพื้นที่ คนอื่นๆ ภายนอกก็ไม่ทราบ ไม่เข้าใจ ไม่ตระหนักในองค์รวม เพราะยังไม่ “โดน”เอง โดยอย่างน้อยก็หวังว่าคนไทยจะตระหนักก่อนที่จะสายเกินไปจนแก้ไขไม่ได้
“ไม่รู้ว่าคนที่นี่เขาคิดและทำกันได้อย่างไรอะพี่” น้องใหญ่กล่าวอย่างตื่นเต้นระคนแปลกใจระหว่างที่เราสนทนากันอยู่ “ผมยอมรับในเทคโนโลยีอันเก่งกาจของเขานะ แต่เขาสามารถทำให้ทุกคนมีความสนใจ มีจิตสำนึก มีการออกกฎหมายเป็นเรื่องเป็นราวสามารถเอาไปใช้ต่ออย่างจริงจัง ก่อให้เกิดระบบที่แข็งแกร่งทั้งประเทศนี้ได้อย่างไร?” น้องใหญ่กล่าวเสริมกรณีนี้ว่า ประเทศเยอรมนียกเลิกการใช้ระบบการทิ้งขยะแบบฝังกลบตั้งแต่ปี 2548 เนื่องจากไม่ถูกสุขลักษณะ แถมยังมีความคิดที่ว่าขยะต้องนำไปใช้ประโยชน์ในทุกๆ ทางก่อนเอาไปทิ้งทำให้หนุ่มของเราหวนคิดไม่ได้ว่า หากบ้านเรามีกฎหมายเช่นนี้จะเป็นอย่างไร? เอาเข้าสภาได้ไหม?
เมื่อถามต่อถึงปัญหาเกี่ยวกับการจัดการขยะในบ้านเรา น้องใหญ่เล่าข้อสังเกตของตนว่าคนไทยมักมองว่าขยะไม่มีค่า อยากทิ้งอะไรก็ทิ้งอีกอย่างคือประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา ให้ความสำคัญมากกับการผลิตและการนำเข้าเทคโนโลยีเพื่อการผลิต ดังจะเห็นในหลายๆ โรงงานที่ประกอบชิ้นส่วนต่างๆ แต่เราได้คิดกันบ้างไหมว่า การผลิต ก็ย่อมเป็นการสร้างขยะ นอกจากนั้น พวก ISO (International Organization for Standardization) ที่ทำกันก็มักเป็นระบบหลอกลวง เพียงแค่อยากให้ลูกค้าเห็นแต่ขยะที่เกิดขึ้น (ซึ่งเอามาใช้ประโยชน์ต่อได้) ไม่มีคนติดตามว่าแท้จริงแล้วเอาไปทำอะไรต่อ อีกประเด็นที่น่าสนใจคือการนำขยะมาแปรรูป ซึ่งสามารถนำไปผลิตไฟฟ้าได้ เมื่อนั้นค่าไฟก็จะถูกลงอย่างไรก็ตามต้องมีการลงทุน (ที่สูง) ก่อนซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ก็ไม่กล้าเริ่มต้นในจุดนี้และมักมองว่าจะได้อะไรทันทีโดยไม่ค่อยนึกถึงผลที่จะได้ในระยะยาว
หันกลับมาที่น้องใหม่ เธอเห็นว่าปัญหาของบ้านเราคือการสร้างขยะและการจัดการขยะนั้นต้องมีความสมดุลกัน จริงอยู่ว่าระบบดังกล่าวในบ้านเราพัฒนาอยู่ หากแต่ประสิทธิภาพยังไม่ดีเท่าที่ควร เวลาที่เราทิ้งอะไร อยากให้คิดว่าเราทิ้งไปมากแค่ไหนแล้ว ต้องสร้างจิตสำนึกในเรื่องขยะให้คนไทยมากกว่านี้ รัฐต้องมีความจริงจังในการแก้ปัญหาระยะยาว ต้องแก้ควบคู่ทั้งคนทั้งขยะ ยกตัวอย่างโครงการหนึ่งที่น่าสนใจคือ คนไทยชอบตามแฟชั่น ตามกระแส เชื่อว่าถ้าแยกขยะเป็นแฟชั่นก็ทำตามได้ไม่ยาก น้องใหม่ยังเล่าว่าเทคโนโลยีในทางการจัดการขยะที่ประเทศเยอรมนีเป็นอะไรที่ทำแล้วเห็นจริง คิดแล้วทำในขณะที่บ้านเรายังมีน้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลย ยกตัวอย่างเช่น ระบบการทิ้งขยะแบบฝังกลบในประเทศไทยควรจะมีการยกเลิกได้แล้ว ทั้งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจก็ได้กล่าวไว้ หากแต่ในความเป็นจริงคงจะจัดการได้ยาก เนื่องจากยังมีระบบนี้อยู่มากและยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร
“ต้องใส่คุณค่าในขยะนะพี่” น้องใหญ่ว่าต่อ พร้อมอธิบายว่า อาจกำหนดด้วยตัวเงิน ลองคิดว่าขยะคือเงินเมื่อนั้นใครๆ ก็ไม่กล้าทิ้ง ยกตัวอย่างเช่นระบบคืนขวดนํ้าดื่มต่างๆ ในประเทศเยอรมนีซึ่งสามารถกระตุกจิตสำนึกของคนได้ พอจะทิ้ง ก็เก็บไว้ก่อนเพราะแลกกลับเป็นเงินได้ หรือถ้ามีใครทิ้งไปก็ยังมีคนอื่นมาเก็บเอาไปแลกเงินต่ออยู่ดี ส่วนมาตรการกับขยะอื่นๆ เป็นแนวที่ว่าคนที่ทิ้งขยะต้องจ่ายเงิน(ค่อนข้างแพง) เพื่อให้คนมาเก็บ หรือถ้าไม่แยกขยะอย่างที่กำหนดไว้จะต้องเสียค่าปรับในอัตราที่สูง แนวคิดหลักๆ ของน้องใหญ่ สำหรับเอาไปประยุกต์ใช้ในเมืองไทยคือ ต้องเริ่มต้นจากการใส่คุณค่าและจัดการกับคุณค่า (ขยะ) นั้นๆ ก่อน หลังจากนั้นให้ลองใช้วิธีการจำกัดขยะในพื้นที่ตัวอย่าง อาจสร้างเป็นเมือง ชุมชนหรือหมู่บ้านจำลอง โดยลองทำอย่างจริงจังให้เห็นว่าใช้ได้จริง แล้วดูประโยชน์กับผลที่ได้รับจากการทดลองกับการจัดการขยะ น้องใหญ่กล่าวว่าแท้จริงแล้วสิ่งที่ตนได้ร่ำเรียนมาสามารถเอามาปรับใช้กับระบบการกำจัดขยะในบ้านเราได้แน่นอน หากสิ่งสำคัญคือต้องอาศัยคนร่วมมืออย่างน้อย 50% ขึ้นไป ซึ่งสถานการณ์ขยะในประเทศไทยสามารถทำได้เป็นอย่างดี เพราะมีทรัพยากร (ขยะ) เยอะมากเนื่องจากเมืองไทยเป็นเมืองกินและท่องเที่ยว ขยะที่ถูกทิ้ง สามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อได้มาก (ในการแปรรูปต่อไป) แต่เราไม่ได้เอามาใช้เลย…
ย้อนกลับมาเรื่องการเรียน “การจัดการขยะ” ที่ชตุทท์การ์ท น้องใหม่ให้ข้อสังเกตว่า ในช่วงหลังๆสาขาวิชานี้มักได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติมากขึ้นเรื่อยๆ (มากสุดเรียงลำดับ จีน ลาตินอเมริกา ตามมาด้วยตะวันออกกลางและเอเชียใต้) โดยในแต่ละปี จะมีนักศึกษาประมาณ 30-40 คนแต่ยังไม่ค่อยพบเห็นคนไทยมาเรียนมากเท่าไหร่ (น่าเสียดายจัง…) ทั้งสองเล่าว่าคนเยอรมันเองก็ให้ความสนใจในการเรียนสาขาวิชาด้านการจัดการขยะเป็นจำนวนมากทั้งปริญญาตรี โทและเอก ซึ่งที่เมืองชตุทท์การ์ท การเรียนการสอนชั้นปริญญาตรีจะเรียกว่า Umweltschutztechnik เฉกเช่นในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ซึ่งการเรียนสาขานี้หากสนใจจริงและมีความตั้งใจจริงจังจะเริ่มตอนไหนก็ได้ สำหรับการเรียนปริญญาโทสาขาดังกล่าวที่นี่ จะเรียนเป็นภาษาอังกฤษ ใช้เวลาเรียน 2 ปี (4 เทอม) โดยเทอมแรกจะเรียนเป็นวิชาปูพื้นฐานความรู้ทางวิศวกรรมทั่วไป (ประมาณว่า Thermodynamics, Mechatronics เป็นต้น) ซึ่งน้องใหญ่เปรียบเทียบให้เราฟังว่า ช่วงนี้เสมือนเราไปเรียนปริญญาตรีใหม่อยู่ประมาณหนึ่งเทอมครึ่ง (ให้พื้นฐานแน่น) จากนั้นในเทอมสอง จะให้นักศึกษาเลือกเรียนสองจากสามหัวข้อซึ่งได้แก่ นํ้าเสีย (Waste Water) อากาศ (Air Quality Control) และ ขยะ (Solid Waste) โดยน้องใหม่ให้ข้อสังเกตเราว่า ส่วนใหญ่นักเรียน (ไทย) จะเลือกเรียนอากาศและขยะมากกว่านํ้าเสีย อาจเพราะทรัพยากรบุคคลทางนํ้าเสียในบ้านเรามีค่อนข้างมากอยู่แล้ว โดยในเทอมนี้ก็จะมีการเขียนงานส่งเล็กๆ น้อยๆ “เขียนงานโหดมากกกก… นะพี่” น้องใหม่กล่าว “มันงงๆ เหมือนกับเราเริ่มต้นจากไม่รู้อะไรเลยจากสมองที่ว่างเปล่า” เธอกล่าวว่าอาจเป็นเพราะการเรียนสาขานี้ที่นี่ เวลาเขียนงานจะไม่กำหนดกรอบค่อนข้างจะให้อิสระ ส่งเสริมให้นักศึกษาได้ออกความคิดเห็นใหม่ๆ ได้เต็มที่ ในเทอมสามจะมีวิชาเรียนน้อยลง แต่จะเน้นลงลึกในแต่ละสาขามากขึ้น โดยระหว่างนี้จะต้องทำ Independent Studies คือการหาหัวข้อที่น่าสนใจ 2-3 หัวข้อ มาทำวิจัยชิ้นเล็กๆ ใช้เวลา 6 เดือน (หนุ่มของเราแอบกระซิบว่าทำจริงราวๆ เกือบจะหนึ่งปีทีเดียว)และสุดท้ายคือการเขียนวิทยานิพนธ์ในเทอมที่สี่
น้องใหญ่ให้ข้อเสนอแนะที่น่าสนใจสำหรับน้องๆ ที่ต้องการมาเรียนสาขานี้ว่าหากอยากจริงจังในการแก้ไขปัญหาบ้านเรา ควรเรียนที่เมืองไทยมาก่อนแล้วมาเรียนเพิ่มเติมที่ต่างประเทศจะได้เห็นปัญหาที่แท้จริงและแก้ไขได้ถูกจุด เพราะข้อเสียของการมาเรียนการจัดการขยะตั้งแต่ปริญญาตรีที่เมืองนอก คือ จะไม่มีข้อมูลเบื้องต้นว่าบ้านเมืองเราเป็นอย่างไร แล้วอาจคิดว่าระบบทุกอย่างที่บ้านเราอยู่ตัวแล้ว ดีแล้ว
น้องใหม่ยังให้ข้อสังเกตในเรื่องความเหมือนและความแตกต่างของการเรียนการจัดการขยะที่เมืองไทยและที่นี่ว่า หากเป็นเรื่องของบุคลากรอาจารย์นั้นไม่แตกต่างกัน เพราะอาจารย์ที่เมืองไทยก็มีความรู้ ความสามารถอยู่ในขั้นดีมาก หากแต่อาจารย์ที่เยอรมนีจะสอนในสิ่งที่ตนคิดขึ้นมาเอง ซึ่งเกิดจากความเข้าใจอันถ่องแท้ เพราะส่วนใหญ่มักเป็นอาจารย์ที่ทำงานประจำอยู่ในบริษัทที่เห็นปัญหานอกจากนั้นนักศึกษาที่นี่ก็ยังใส่ใจมาเรียน ถึงแม้บางคนแต่งตัวเซอร์ๆ ไม่ได้พิถีพิถันมากเฉกเช่นบ้านเราหากเวลาเขียนงานหรือสอบก็ตั้งใจอย่างเต็มที่ ในขณะที่นักศึกษาบ้านเราจะไม่มีความสนใจในการเรียนสาขาดังกล่าวเท่าที่ควร แม้อาจารย์จะเก่งและมีความรู้มากมายแค่ไหนก็ตาม (น่าเสียดายจริง…) เธอยังเล่าให้ฟังถึงความประทับใจที่มีต่ออาจารย์ที่นี่ว่า ได้มีโอกาสไปทัศนศึกษาโรงงานแห่งหนึ่งเมื่อหลังจากดูงานเสร็จ อาจารย์ก็พาเข้าไปในป่าดำ (Schwarzwald) ที่อยู่ใกล้เคียง นักศึกษาก็พากันงงเพราะไม่ได้อยู่ในแผน หากแต่อาจารย์ตอบกลับว่า “การที่เราเรียนเรื่องสิ่งแวดล้อมแต่ไม่รู้จักสิ่งแวดล้อม มันเป็นการเรียนที่ผิด เราต้องออกมาดูบ้างว่าสิ่งแวดล้อมยังอยู่ดี ไหมถูกทำลายไปแค่ไหนแล้ว…”
เมื่อมาเรียนเกี่ยวกับการจัดการขยะที่ประเทศเยอรมนี สิ่งหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ คือ การมีโอกาสเข้าไปสัมผัสกับของจริง นั่นคือ โรงงานต่างๆ ในการจัดการขยะ ซึ่งน้องๆ ทั้งสองเล่าว่าโดยปกติจะมีโอกาสไปดูงานเฉลี่ยเดือนละหนึ่งครั้ง หากแต่ไม่บังคับ ใครต้องการไป ก็สามารถลงชื่อได้ ซึ่งนักศึกษาส่วนใหญ่ก็ดูกระตือรือร้นกับโอกาสดังกล่าวอยู่เสมอ “หนูชอบโรงเผาขยะ (Restmüllheizkraftwerk) ของ EnBW (Energie Baden-Württemberg) ที่ชตุทท์การ์ทมากที่สุดนะ” น้องใหม่กล่าว (ทำให้เราต้องตามล่าหาเหตุผลของเธอต่อไป…) “ไปดูแล้วมันได้อารมณ์ว่า… อ๋อออออ… เลยพี่” เธอตอบความสงสัยของเราต่อว่า ก่อนไปทัศนศึกษาที่นี่ทางบริษัทจะให้รายละเอียดกระบวนการทำงานภายใน แล้วพอเข้าไปเห็นจริงทางบริษัทก็เปิดให้ดูกระบวนการเผาขยะอย่างเต็มที่ ทะลุทะลวง ไม่มีเม้ม หันมาทางน้องใหญ่บ้าง “ผมชอบ BASF (Badische Anilin-und Soda-Fabrik หรือ Baden Aniline and Soda Factory ซึ่งเป็นโรงงานเคมีภัณฑ์ชื่อดังที่ใหญ่ที่สุดในโลก) สำนักงานใหญ่ ที่ลุดวิกส์ฮาเฟน (Ludwigshafen) นะพี่” น้องใหญ่เล่าให้เราเห็นภาพว่า ณ โรงงานแห่งนี้เมื่อเข้าไปแล้วจะเสมือนอยู่อีกโลกหนึ่งเพราะค่อนข้างมีขนาดใหญ่ มีระบบการจัดการที่ครบครันและเชื่อมโยงกันหมด ทั้งการผลิตการใช้ประโยชน์และการกำจัดไปอย่างยั่งยืน สภาพภายในจะมีท่อ มีปล่องควันเต็มไปหมด สักพักน้องใหม่ก็กล่าวเสริม “พี่เคยดูหนังเรื่อง The Fifth Element ป่าว? (ถามชื่อหนังซะ…เห็นภาพอายุของทั้งคนถามและถูกถามเลยแฮะ…) เหมือนหมดเลยอะ ขาดแค่ยานอวกาศเท่านั้นเอง”
ซึ่งทั้งสองกล่าวเป็นคำเดียวกันว่า ตอนเรียนปริญญาตรีที่เมืองไทย ทางมหาวิทยาลัยก็พาไปดูงานทัศนศึกษาตามที่ต่างๆ อยู่บ่อยๆ หากยังเห็นภาพไม่ชัด แต่พอมีโอกาสมาเรียนที่นี่ มาดูงานที่นี่ ก็ได้รู้ว่าเป็นอย่างไร ขยะมีกี่ประเภท มีการจัดการอย่างไรที่ครบวงจรสามารถตอบคำถามที่เคยสงสัยได้เกือบหมด
วกเข้ามาเรื่องเมืองที่มารํ่าเรียนกัน นั่นคือ เมืองชตุทท์การ์ท เมืองหลวงของแคว้นบาเดน-เวือร์ทเทมแบร์ก (Baden-Württemberg) สาวเจ้าของเราเริ่มเกริ่นก่อนว่า ชอบที่ได้มีโอกาสมาเรียนที่นี่ เพราะชตุทท์การ์ทเป็นเมืองที่ค่อนข้างมีระบบที่ดี ไม่ต้องกังวลเวลาเดินไปไหน ผู้คนรู้ขอบเขตของกันและกันไม่ละเมิดสิทธิ์ อาจทั้งเป็นเรื่องปกติของนักศึกษาไทยที่มีโอกาสมาศึกษาต่างประเทศ ที่จะมีโอกาสได้มีอิสระ ได้อยู่กับตัวเอง ซึ่งเป็นผลดี อาจค้นพบว่าตนเองต้องการอะไร อย่างไรก็ตามเธอเน้นย้ำว่า ที่นี่ไม่ใช่บ้านของเราและอยากนำความรู้ที่ได้ กลับไปพัฒนาบ้านเราเสียมากกว่า ส่วนหนุ่มของเรากล่าวว่า แม้จะเป็นเมืองหลวง แต่ที่นี่มีบรรยากาศที่ดี คนไม่พลุกพล่าน อย่างไรก็ตามรู้สึกว่าตนเองเมื่ออยู่เมืองนี้ ประเทศนี้แล้ว ไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าไหร่ เนื่องจากไม่มีอะไรให้ทำ (ให้แก้) ด้วยเหตุที่ว่าระบบของประเทศเยอรมนีดีและลงตัวอยู่แล้วและในทางกลับกันคิดว่าตัวเองน่าจะมีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองมากกว่าหากอยู่ที่เมืองไทย ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเราเพราะประเทศไทยยังมีหลายเรื่องที่ต้องการการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
ก่อนลาจาก น้องใหม่ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า อยากให้คนทั่วไปคิดก่อนทิ้ง อยากให้มี “สติ” ในการทิ้งของ ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า ก่อนเราจะขยำกระดาษที่ใช้เรียนลงถังขยะ เราสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้อีกไหม? หรือว่าเราเอามาใช้ทั้งสองหน้าแล้วหรือยัง? น้องใหญ่กล่าวเสริมต่อว่า ตนเองก็มักจะคิดก่อนเสมอ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือพยายามที่จะไม่พรินท์กระดาษออกมาใช้ เมื่อพยายามไม่ค่อยใช้ ขยะก็จะไม่เกิด อีกประเด็นทางอุตสาหกรรมคือหากไม่มีผู้ใช้ ก็จะไม่มีคนผลิตออกมามากมายให้เกิดภาวะขยะ “ล้นโลก”
น้องใหญ่ยังเล่าประสบการณ์ส่วนตัวที่จะจำไปไม่มีวันลืมว่า เคยได้มีโอกาสพูดคุยกับคนรู้จักและถูกถามถึงสาขาที่เรียน เมื่ออีกฝ่ายทราบว่าเป็นอะไร เขากลับมึนงงและถามกลับว่า เป็นสาขาที่ไม่ดี ไม่สะอาด เรียนไปทำไม พร้อมกับให้ความเห็นว่าหากมีลูกหลานจะไม่ให้เรียนโดยเด็ดขาด ซึ่งแทนที่น้องใหญ่จะโกรธ เขากลับรู้สึกดีกับสิ่งที่ตนเองทำและเรียนอยู่ โดยคิดต่อว่าการที่เรียนและทำในสิ่งที่คนอื่นไม่สนใจนั้น เขาจะสามารถ “ทำอะไร” เพื่อสังคมได้มากขึ้นยิ่งกว่า โดยน้องใหญ่ได้กล่าวกับทางเราสั้นๆ ด้วยสีหน้าเปื้อนยิ้มอย่างมีความนัยว่า “แล้วคุณจะรู้ว่าสิ่งที่ผมทำอยู่… คืออะไร”
หากใครสนใจสาขาวิชาของน้องใหม่และน้องใหญ่ สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ ที่นี่
นิตยสาร opnmnd ฉบับเต็มสามารถดาวน์โหลดได้ ที่นี่
Image Source:
http://bhujbolechhe.org
http://www.wsj.com
http://content.time.com
https://www.teachengineering.org
http://www.omicsonline.org
Home page
http://www.houstonchronicle.com
http://kingofwallpapers.com
http://www.triplepundit.com
http://earth911.com