ประสบการณ์ตรงจากนักเรียนทุน Erasmus Mundus ปี 2549/2550 ภาค 1

 

โดย…พรรณพร อัชวรานนท์

สวัสดีค่ะ ดิฉันชื่อ “พรรณพร อัชวรานนท์” ชื่อเล่น “แจน” ค่ะ ได้รับทุน Erasmus Mundus ประจำปี 2549/2550 (ตุลาคม 2549 – มกราคม 2551) สาขาวิชา Euroculture

 

 

วินาทีแรกที่ได้มีโอกาสรู้จักทุน Erasmus Mundus

ความสนใจที่จะสมัครทุนนี้เริ่มมาตั้งแต่เมื่อกลางปี 2548 หลังจากที่เcรียนจบจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยรามคำแหง ประกอบกับมีความชื่นชอบในศิลปวัฒนธรรมของยุโรปอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้วนั้น จึงได้ตัดสินใจที่จะมาศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ยุโรป แต่ในใจก็อยากจะลองสอบชิงทุนมา เนื่องจากไม่อยากรบกวนทางบ้าน ณ เวลานั้นทุน Erasmus Mundus ยังถือว่าใหม่มากสำหรับนักเรียนไทย (เมื่อเทียบกับในปัจจุบัน) เนื่องจากยังอยู่ในช่วงไม่กี่ปีที่เริ่มประกาศ (ดิฉันเป็นรุ่นที่สาม)

โดยเริ่มแรกรับทราบข่าวจากป้ายประกาศที่มหาวิทยาลัยและอ่านจากนิตยสาร หลังจากนั้นจึงได้เปิดเว็บไซต์ของทุน Erasmus Mundus ดูสาขาที่สนใจ แล้วเตรียมตัวไปสอบ IELTS หรือ TOEFL ให้ผ่านเกณฑ์ที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนดไว้

พร้อมกันนี้ก็เริ่มเขียน Letter of Motivation บอกเล่าประสบการณ์การเรียนและการทำงานพร้อมทั้งความตั้งใจและความมุ่งหวังในการเล่าเรียนสาขาวิชานั้นๆ เมื่อรวบรวมเอกสารครบหมดทุกอย่างตามที่มหาวิทยาลัยต้องการ (ขอแนะนำว่าให้ส่งเอกสารทุกอย่างที่ทางมหาวิทยาลัยขอ เพราะจะทำให้มีโอกาสได้รับการคัดเลือกมากขึ้น) ก็ส่งไปที่มหาวิทยาลัยผู้ประสานงานหรือตามที่อยู่ที่เว็บไซต์ได้แจ้งไว้ กระบวนการดังกล่าวจะต้องทำก่อนถึงวันกำหนดส่ง (เริ่มประกาศรับสมัครตั้งแต่ประมาณพฤศจิกายนของแต่ละปีและมักจะหมดกำหนดส่งประมาณปลายเดือนธันวาคมถึงต้นปี ซึ่งจะมีกำหนดเวลาที่ไม่เหมือนกันตามแต่ละสาขาวิชาที่ประกาศไว้)

หลังจากนั้นจะมีอีเมล์และจดหมายตอบรับการได้เข้าเรียนส่งมาให้ ประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคมของแต่ละปีการศึกษา โดยระบุว่าได้รับเลือกจากมหาวิทยาลัยแล้วแต่ต้องรออีกประมาณสองอาทิตย์เพื่อให้คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ซึ่งเป็นเจ้าของเงินตัวจริงรับรองการให้ทุนเสียก่อนจึงจะครบถ้วนกระบวนการให้ทุน ตอนนี้ขอสารภาพว่าเป็นตอนที่ถ้าไม่มีใครมาแนะนำมาก่อนอาจทำให้หลายๆ คนที่ได้รับการตอบรับเบื้องต้นรู้สึกไม่แน่นอนกับผลที่ได้รับ แต่จากประสบการณ์ขอบอกว่าการได้รับการตอบรับเบื้องต้นจากมหาวิทยาลัยก็ถือว่าค่อนข้างได้รับทุนแล้วเพราะโดยส่วนมากนักศึกษาไทยมักจะไม่ค่อยมีปัญหาตรงนี้เท่าไร หลังจากนี้ก็เตรียมตัวจัดกระเป๋ากับขอวีซ่าได้เลยค่ะ

เตรียมตัวก่อนบินไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

 

ขอบอกไว้ก่อนเลยนะคะว่าหลังจากที่ทางมหาวิทยาลัยผู้ประสานงานได้ติดต่อมาว่าเราได้รับทุนเบื้องต้นและมีการรับรองจากคณะกรรมาธิการยุโรปเรียบร้อยแล้ว จากนี้ไปถ้าเรามีอะไรสงสัยให้ติดต่อกับมหาวิทยาลัยผู้ประสานงานและ มหาวิทยาลัยแรกของเราเพียงเท่านั้นเพราะหากเราติดต่อไปที่คณะกรรมาธิการยุโรป ทางนั้นจะไม่สามารถให้คำตอบเราเกี่ยวกับการเรียนแต่ละที่ได้
กระบวนการต่อไปคือการไปขอวีซ่าที่สถานทูตต่างๆ ตามประเทศที่ระบุมาว่าเราได้รับเข้าศึกษา ก่อนจะไปทำวีซ่าได้นั้นทางมหาวิทยาลัยแรกที่เราจะไปเรียนจะส่งเอกสารการตอบรับ (Acceptance Letter) มาให้ ขอแนะนำว่าเมื่อรู้ว่าได้รับทุนแล้ว ให้ไปติดต่อกับสถานทูตนั้นๆให้เร็วที่สุด เนื่องจากระบบการออกวีซ่าของแต่ละประเทศใช้เวลามากน้อยต่างกัน หลายๆประเทศมักจะแจ้งว่าอย่างต่ำหนึ่งถึงสามอาทิตย์ โดยหากนักศึกษาไม่รีบไปขอ อาจเตรียมการไม่ทันได้ สิทธิประโยชน์ที่ Erasmus Mundus จะจัดการให้คือนักศึกษาที่ได้รับทุนไม่ต้องเสียค่าวีซ่าเดินทางเข้าประเทศนั้นๆ (ส่วนใหญ่ในยุโรป) ดังนั้นเมื่อไปขอ อย่าลืมอ้างสิทธิ์ของเรานะค่ะ สำคัญมาก
ขั้นต่อไปคือการรีบจองตั๋วเครื่องบิน เพราะในช่วงนั้น (กันยายน-ตุลาคม) เป็นช่วงที่นักเรียนไทยเดินทางไปเรียนต่อทั่วโลกกันมาก ดังนั้นควรอุ่นใจไว้ก่อนด้วยการจองตั๋วไว้แต่เนิ่นๆจะเป็นการดีกว่าค่ะ
ได้กล่าวถึงสิทธิประโยชน์ไปแล้ว อีกประการที่ทางคณะกรรมาธิการยุโรปจะจัดไว้ให้คือการทำประกันชีวิต สามารถเก็บไว้ใช้ได้ตลอดระยะเวลาที่เราไปเรียน ซึ่งโดยทั่วไปนักเรียน นักศึกษาต่างชาติจะต้องทำก่อนไปเรียนในยุโรป แต่สำหรับนักศึกษาทุน Erasmus Mundus มหาวิทยาลัยผู้ประสานงานจะจัดส่งเอกสารเหล่านี้มาให้ค่ะ ไม่ต้องเป็นห่วง
ต่อไปแล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละคนคือ การแนะนำให้ไปทำบัตรนักศึกษา ISIC Card: International Student Identity Card เพราะจะเป็นประโยชน์ในแง่ที่ใช้เป็นส่วนลดได้เวลาเดินทางและเข้าชมพิพิธพันธ์ต่างๆ และที่สำคัญสามารถนำมาใช้เป็นบัตรประจำตัวนักเรียนได้ในช่วงที่ยังไม่ได้รับบัตรนักเรียนตัวจริงจากทางมหาวิทยาลัย ซึ่งบัตรดังกล่าวค่อนข้างได้รับการยอมรับเป็นอย่างมากในประเทศยุโรปค่ะ
อีกเรื่องที่มีความสำคัญคือการให้ทุน โดยคณะกรรมาธิการจะจัดสรรทุนให้เมื่อเราได้ไปลงทะเบียนเรียนที่มหาวิทยาลัยแรกแล้ว ดังนั้นนักศึกษาที่ได้รับทุนจึงต้องเตรียมตัวสำรองจ่ายค่าตั๋วเครื่องบิน, ค่าที่พักและค่ากินอยู่ในช่วงเริ่มแรกไปก่อน
ต่อไปคือการเตรียมตัวตนเองเพื่อไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆโดยศึกษาสภาพของประเทศและเมืองที่จะไปล่วงหน้า พร้อมทั้งจัดเสื้อผ้าที่เหมาะสมกับฤดูกาล พึงระวังว่าฤดูหนาวในยุโรปนั้นมีอากาศที่หนาว-หนาวจัด (ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ) จึงขอแนะนำให้เตรียมตัวให้ดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอยากให้ระลึกด้วยว่านักศึกษาทุน Erasmus Mundus จะต้องเดินทางบ่อย อย่างต่ำคือสองประเทศดังนั้นไม่ควรนำของมาเยอะเพราะจะเกิดความลำบากในการเดินทางโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าต้องไปประเทศยุโรปตอนใต้ อาทิ อิตาลี สเปน ฯลฯ ไม่ควรนำกระเป๋าไปหลายใบเพราะจะเป็นที่ล่อแหลมให้กับพวกฉกชิงวิ่งราวได้ นอกจากนั้นการเตรียมตัวเรียนภาษาของประเทศที่จะไป ก็เป็นอีกประการที่ต้องเตรียมตัวเช่นกัน โดยปกติแล้วทางมหาวิทยาลัยที่ไปเรียนจะมีคอร์สภาษาเตรียมไว้ให้

ระบบการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยในยุโรป

 

ตามปกติแล้วสาขานี้จะให้เลือกเรียนมหาวิทยาลัยสองแห่ง โดยตนเองเลือกเรียนเทอมแรกที่ Georg-August-Universität Göttingen ที่เมือง Göttingen ประเทศเยอรมนี และ เทอมที่สองที่ Uppsala Universitet ที่เมือง Uppsala ประเทศสวีเดนค่ะ แต่เนื่องจากทุนนี้เป็นทุนเรียน 16 เดือน (หนึ่งปีสี่เดือน) ประกอบกับแต่ละมหาวิทยาลัยในยุโรปมีการจัดแบ่งระบบการเรียนการสอนที่ไม่เหมือนกัน ในกรณีของตนเองจึงมีการแบ่งเป็นสามเทอม โดยเทอมแรกไปเรียนที่ประเทศเยอรมนี 4 เดือน (ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2549 – มกราคม 2550) แล้วจึงย้ายไปเรียนที่สวีเดน อีก 5 เดือน(มกราคม- พฤษภาคม 2550) หลังจากนั้น เครือข่ายการศึกษาของ Euroculture (รวมแปดมหาวิทยาลัยทั่วยุโรป) มีการจัด Intensive Program (IP) ในทุกปีของเดือนมิถุนายน โดยในปีนี้ จัดขึ้นที่ Université Marc Bloch เมือง Strasbourg ประเทศฝรั่งเศส โดยมีการนำเสนอบทความที่นักศึกษาแต่ละคนได้ทำการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ Euroculture และมีกิจกรรมร่วมกัน ทั้งทางด้านวิชาการและสันทนาการเป็นเวลาสองอาทิตย์ หลังจากนั้นจึงเป็นช่วงการฝึกงาน ซึ่งมหาวิทยาลัยผู้ประสานงานได้กำหนดไว้ว่า ให้ฝึกงานไม่ต่ำกว่า 10 อาทิตย์ (สามารถเลือกได้ระหว่างช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน) จากนั้นจึงเป็นการเริ่มต้นเทอมที่สามซึ่งเป็นเทอมของการเขียนวิทยานิพนธ์เท่านั้น โดยในส่วนของดิฉันนั้นจะต้องกลับไปเขียนที่มหาวิทยาลัยแรกคือที่ประเทศเยอรมนีและอยู่เขียนวิทยานิพนธ์ที่นั่นจนจบการศึกษา
ระบบการเรียนปริญญาโทที่ประเทศเยอรมนีและสวีเดนนั้นค่อนข้างจะแตกต่างกัน โดยที่ Georg-August-Universität Göttingen ที่เมือง Göttingen ประเทศเยอรมนี จะเน้นการเรียนในลักษณะสัมนาทุกวันทั้งสัปดาห์ นักศึกษาทุกคนต้องอ่านหนังสือค้นคว้าและมีการสัมนาที่เราจะต้องแสดงความคิดเห็นและมีการนำเสนอรายงานตลอดภาคการศึกษาแทนการนั่งทำข้อสอบในห้องที่เมืองไทย การคำนวณระบบเกรดก็แตกต่างไปจากเมืองไทย โดยมีการนับเกรด ว่า 1.0 คือดีที่สุด (A) จนถึง 6.0 (F) นับเรียงลงมา ในขณะที่ Uppsala Universitet ที่เมือง Uppsala ประเทศสวีเดน จะเน้นการศึกษาเล่าเรียนด้วยตนเอง (Self study) โดยจะมีการเรียนเพียงไม่กี่วันในหนึ่งสัปดาห์ เวลาที่เหลือจะเน้นให้นักศึกษาเข้าห้องสมุดไปศึกษาค้นคว้าทำรายงานและนำเสนอรายงานหน้าห้องเรียนเช่นเดียวกัน ส่วนเกรดที่ได้กล่าวว่าแตกต่างออกไปคือจะมี VG (Excellent) และ U (Fail) ซึ่งการวัดระดับการเรียนที่นี่จะมีมาตรฐานสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศยุโรปอื่นๆ โดยการเรียนทั้งสองแบบก็มีข้อดีข้อเสียต่างกัน แต่สิ่งที่มีค่าที่สุดที่ได้เรียนรู้คือวัฒนธรรมต่างๆ แบบลึกซึ้งของประเทศเหล่านี้ที่เราได้มีโอกาสไปสัมผัส (ถึงแม้ไม่ได้เรียน Euroculture แต่เชื่อว่านักศึกษาทุน Erasmus Mundus ทุกคนจะได้รับ)

หวังว่าจากประสบการณ์ดังกล่าวน่าจะเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษารุ่นต่อๆไปเป็นอย่างดี เนื่องจากในสมัยที่ตนเองได้ทุนนั้น ก็ต้องศึกษาจากการลองผิดลองถูกเอง ไม่ได้มีใครมาบอกหรือแนะนำอย่างนี้ (เพราะเป็นรุ่นแรกๆ) อย่างไรก็ตามหากมีผู้สนใจอยากถามเกี่ยวกับทุน Erasmus Mundus ทั่วๆไปหรือ สาขาที่ตนเองเรียน Euroculture ก็สามารถติดต่อได้โดยตรงนะคะ ยินดีไขข้อสงสัยให้กับทุกคนค่ะ โชคดีนะคะ

นี่เป็นภาคแรกนะคะ อดใจรอสักครู่หนึ่งแล้วจะกลับมาเล่าประสบการณ์ภาคสองซึ่งเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของนักศึกษาไทยในยุโรป อัธยาศัยของผู้คนท้องถิ่น อะไรที่ควรทำและไม่ควรทำ ฯลฯ แล้วพบกันคราวต่อไปค่ะ

Leave a Reply