เรื่องและสัมภาษณ์: พรรณพร อัชวรานนท์
จากคอลัมน์ “ก้าวที่แตกต่าง” (TSVD: opnmnd Magazine #3 บูรณาการ)
ในโลกแห่งการเรียนรู้ศาสตร์ต่างๆ ที่ไม่หยุดนิ่ง การเรียนสาขาวิชาที่แปลก ไม่ค่อยมีคนศึกษาหรือมีคนสนใจ (หรือไม่ทราบด้วยซ้ำว่ามีการเรียนการสอนวิชานั้นๆ) มักถูกมองว่าด้อยค่าและยากที่จะประกอบอาชีพต่อไปได้ ยิ่งโดยเฉพาะศาสตร์ทางสายสังคม ซึ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าสายวิทยาศาสตร์ ที่ฟังดูเหมือนว่าง่ายแต่กลับเป็นสาขาวิชาที่คนจำนวนมากยังไม่สามารถเข้าใจและเข้าถึงได้ หนึ่งในนั้นคือ Gender Studies หรือ เพศสภาพศึกษา สาขาวิชาหนึ่งทางสายสังคมศาสตร์ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในสังคมโลกอันบิดเบี้ยวของเราทุกวันนี้ หากแต่คนทั่วไปยังมักเข้าใจว่าสาขาดังกล่าวคือการศึกษาเรื่องเพศ บ้างก็ไปไกลถึงเพศศึกษา opnmnd จึงไม่รอช้า เนื่องจากไม่อยากให้คุณผู้อ่านต้องคาดคะเนไปต่างๆ นานากันอีกต่อไป ทีมงานจึงไปค้นคว้าหาดาวและได้พบกับสาวน้อยช่างจำนรรจา นั่นคือ น้องมะปราง หรือ มัชฌุวิญญ์ ตุ้มพงษ์ ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการของ Gender Studies และเต็มไปด้วยความคิดความอ่านที่จะกระตุกต่อมสงสัยของใครหลายๆ คน
น้องมะปรางเพิ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทสดๆ ร้อนๆ จาก Humboldt-Universität zu Berlin (HU Berlin) และกลับไปทำงานรับราชการอยู่ที่สำนักวิจัยและพัฒนาระบบงานบุคคล (สวพ.) สายวิชาการ เริ่มแรกนั้น น้องมะปรางได้รับทุนไทยพัฒน์เมื่อ พ.ศ. 2545 เพื่อมาศึกษาปริญญาตรีและโททางกฎหมาย แต่ในวันหนึ่งเธอได้ค้นพบตัวเองอย่างแรงกล้า (ความชื่นชอบในสายสังคมศาสตร์) ประกอบกับรู้สึกว่าภาษาเยอรมันของตนเองไม่แข็งแรงพอสำหรับสายกฎหมาย (ณ ขณะนั้น) เนื่องจากตอนมัธยมศึกษาตอนปลายเธอเลือกเรียนแผนกวิทย์-คณิตมา และถึงแม้ว่าจะมาเรียนและสอบภาษาเยอรมันเรียบร้อยแล้วก็ยังรู้สึกว่าไม่เพียงพอที่จะไปเรียนกฏหมาย เธอจึงขอเปลี่ยนสาขามาเรียน Gender Studies แทน น้องมะปรางเล่าว่า เธอตัดสินใจเลือกเรียนปริญญาตรีสาขา Soziologie/ Gender Studies ที่ Universität Konstanz เพราะมีการเรียนสายสังคมศาสตร์ที่แข็งมาก หากแต่เธอไม่สามารถเลือกเรียน Gender Studies เป็นวิชาเอกได้ เพราะมหาวิทยาลัยในเยอรมันส่วนใหญ่อนุญาตให้เลือกเรียนสาขาดังกล่าวเป็นวิชาโทเท่านั้น เธอจึงเลือกเรียน Soziologie เป็นวิชาเอกและ Gender Studies เป็นวิชาโทแทน เพราะเล็งที่จะเรียน Gender Studies ต่อในการเรียนปริญญาโทอยู่แล้ว
ก่อนจะคุยกันไปไกล เราขออนุญาตตั้งคำถามประชานิยมกับเธอก่อน เนื่องจากมีหลายๆ คนสงสัยกันมาตลอดว่า Gender Studies คืออะไร แล้วเรียนไปทำไม เธอเล่าให้ฟังอย่างน่าสนใจว่า Gender Studies คือการศึกษาเพศสภาพ/เพศวิถี เป็นการศึกษาแบบสหวิทยาการ คือใช้ศาสตร์แทบจะทุกแขนงของสายสังคมศาสตร์นำมาบูรณาการร่วมกันโดยมีจุดเชื่อมอยู่ที่ความเป็น(เพศ)ชายหรือหญิง การเริ่มตีความความหมายของ “เพศ” ให้ต่างไปจากเดิม แบบแรกคือเพศทางชีววิทยาซึ่งโดยทั่วไปแบ่งเป็นชายและหญิงและแบบที่สองคือเพศทางสังคม ซึ่งจะมีหลายๆ ปัจจัยเข้ามาประกอบให้เป็น “คน” อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ กล่าวคือ Gender Studies ไม่ใช่แค่เพศหญิงหรือเพศชายหรือการยอมรับเพศที่ 3 แต่เพียงเท่านั้น แต่คือ การยอมรับตัวตนของแต่ละคน (ปัจเจกบุคคล) ที่มีความแตกต่างกันและทำให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม นั่นหมายความว่าเราเรียนสาขาวิชานี้ไปเพื่อให้เข้าใจตัวเองและสังคม ให้ยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องระบุว่ามีกี่เพศ เพราะถือว่าเป็นขั้นที่อยู่สูงกว่าที่ไม่ได้มีแค่สองเพศ (แล้ว) และไม่ได้เรียนไปเพื่อแค่การเรียกร้องสิทธิในสังคมเท่านั้น แต่เรียนเพื่อให้เกิดความเข้าใจผู้คนที่มีความแตกต่างกันทางเชื้อชาติ ศาสนา สีผิว วัฒนธรรมที่ประกอบกันเป็นมนุษย์ขึ้นมาด้วย (ย้ำว่าไม่ใช่แค่เรื่องเพศที่แตกต่างกัน) และเมื่อทราบความแตกต่างแล้วก็ศึกษาต่อไปว่าอะไรที่ก่อให้เกิดความเหมือนหรือแตกต่าง โดยน้องมะปรางกล่าวเพิ่มว่าส่วนตัวนั้นเธอเห็นว่าปัญหาในสังคมที่เกิดจากความไม่เท่าเทียมกันนั้น ไม่ได้เกิดจากแค่สองเพศ แต่เกิดจากการที่ปัจเจกถูกกำหนดโดยสังคมและวัฒนธรรมว่าแตกต่างจากจารีต ประเพณีหรือบรรทัดฐาน (Norm) ที่สังคมวางไว้ ซึ่งเรามักที่จะเอาบรรทัดฐาน (ของเรา) ไปครอบคนอื่น (โดยบางทีก็ไม่รู้ตัว) ซึ่งจริงๆ แล้วแต่ละบุคคลไม่ควรไปตัดสินคนอื่น ปัญหาคือทำไมไม่มองว่าแต่ละคนก็เป็นปัจเจกเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นคนอ้วน คนพิการหรือแม้แต่คนผิวสี และนี่คือปัญหาเพราะคนในสังคมมักเห็นปัญหาเชิงปัจเจก แต่ไม่สามารถยกระดับปัญหานั้นให้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งเธอเล่าให้เราฟังต่อว่า Gender Studies นั้นแท้จริงแล้วเกิดขึ้นหลังจากยุคที่ผู้หญิงเริ่มออกมาเรียกร้องสิทธิในช่วง ค.ศ. 1920 และยังถือว่าใหม่อยู่เล็กน้อยสำหรับประเทศเยอรมนี โดยเพิ่งมีการกล่าวถึงในช่วงยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งหลักสูตรหรือประเด็นที่สำคัญในการเรียนที่ประเทศนี้ในแต่ละปี ก็มักเป็นเรื่องราวที่แตกต่างกันไปตามปัญหาที่เกิดขึ้น เธอยังให้ความเห็นเพิ่มว่า ในบ้านเราปัจจุบันนี้ยังต้องทำการบ้านกับประเด็นดังกล่าวอยู่มากเพราะประเทศไทยยังอยู่ราวๆ คลื่นลูกที่ 2 ซึ่งยังคงมีการเรียกร้องสิทธิสตรีอยู่และยังไม่มีการทำให้เกิดความเสมอภาคอย่างชัดเจน ในขณะที่ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปนั้น กลายเป็นคลื่นลูกที่สามที่สี่ไปแล้ว กล่าวคือมีการเรียกร้องสิทธิให้กับกลุ่มคนหลายกลุ่ม (สิทธิคนพิการ สิทธิคนชรา สิทธิเด็ก สิทธิคนชายขอบ สิทธิแรงงาน เป็นต้น) จนกระทั่งตีกลับมาเป็นกฎหมายและเริ่มมีการพูดไปในประเด็นอื่นๆ ที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (เช่น การเรียกร้องสิทธิให้ผู้ชายสามารถเลี้ยงดูบุตรและภรรยาที่หย่าขาดไปมีหน้าที่จ่ายค่าเลี้ยงดูแทน ฯลฯ)
ข้อมูลเพิ่มเติมทั่วไปในการเรียน Gender Studies:
ปริญญาตรี: Gender Study Bachelor Degree at Humboldt Universität
การเรียนสาขาวิชา Gender Studies ระดับปริญญาตรี โดยเลือกเป็นวิชาโท ที่น้องมะปรางศึกษา: Gender Studies Bachelor Degree at Universität Konstant
การเรียนสาขาวิชา Gender Studies ระดับปริญญาโท ที่น้องมะปรางศึกษา: Gender Studies Master Degree at Humboldt Universität
เราวกกลับมาเรื่องการเรียนปริญญาตรีที่ Universität Konstanz ซึ่งน้องมะปรางเล่าว่ามีการเรียนการสอนทั้งหมด 6 เทอม โดยเป็นหลักสูตรภาษาเยอรมัน แต่สามารถเลือกเขียนงานวิทยานิพนธ์เป็นภาษาอังกฤษหรือเยอรมันก็ได้และมีบางวิชา บางสัมมนาที่เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งปกติจะใช้เวลาประมาณหนึ่งเทอมในการเขียนงานจบ โดยน้องมะปรางเลือกศึกษาวิจัยเรื่องการปกครองโดยระบบชายเป็นใหญ่ในสังคมไทย โดยยกตัวอย่างคำว่า “กาลเทศะ” กล่าวคือ คำว่า กาลเทศะ มักมีเรื่องของเพศเข้ามาประกอบด้วยเสมอ คำนี้ไม่เคยมีความหมายเป็นกลางทางเพศ หากแต่จะถูกแยกความหมายออกเป็นเพศหญิงและเพศชายที่แตกต่างกันในแต่ละบริบทอยู่บ่อยครั้ง โดยนำทฤษฎีบทของนักสังคมศาสตร์เรื่อง Habitus ของ Pierre Bourdieu (จากหนังสือเรื่อง Die männliche Herrschaft) มาอธิบายกรณีดังกล่าว
เข้าคำถามสบายๆ เกี่ยวกับบรรยากาศการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยในคอนสตันซ์กันบ้าง เธอกล่าวว่าช่วงที่เธอเรียนปริญญาตรีเป็นช่วงชีวิตที่มีความสุขมากกกก (ลากเสียงยาว..) เพราะเมืองสวย มีเวลาทำกิจกรรมนอกห้องเรียนมากมาย หากแต่เป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูง อาจเพราะเป็นเมืองท่องเที่ยวพักผ่อนตากอากาศ ที่มักจะเต็มไปด้วยผู้สูงอายุ เธอยังเล่าให้เราฟังว่ากิจกรรมเด็ดดวงช่วงหน้าร้อนของเธอคือการนั่งอ่านหนังสือริมทะเสสาบโบเดนเซ (Bodensee) โดยนำอาหารมาปิกนิกไปในตัวด้วย พอรู้สึกเบื่อก็กระโดดลงไปว่ายน้ำ เหนื่อยแล้วก็ขึ้นมานอนผึ่งแดด (นอนกลางวัน) พอตัวแห้งก็กระโดดลงน้ำต่อ (ช่างเป็นชีวิตการเรียนที่น่าอิจฉาเสียนี่กระไร) นอกจากนั้นเธอยังกล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่าเมนซ่า (Mensa) หรือโรงอาหารของมหาวิทยาลัยนี้ ยังติดอันดับเมนซ่าที่สวยที่สุดในประเทศเยอรมนี เพราะตั้งอยู่ริมทะเลสาบชื่อดัง ซึ่งเป็นพรมแดนธรรมชาติของสามประเทศ คือ เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์และออสเตรีย (ถึงแม้เธอจะไม่ค่อยแนะนำในเรื่องของรสชาติอาหารเท่าไหร่ก็ตาม) อีกอย่างที่สำคัญมากคือห้องสมุดที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงและสามารถยืมหนังสือได้นาน ส่วนในเรื่องการเรียนการศึกษานั้น น้องมะปรางยกนิ้วโป้งให้กับมหาวิทยาลัยแห่งนี้ว่า เป็นการเรียนแบบรู้จริงเพราะปกติแล้วการเรียนหรืออธิบายทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ นักปรัชญาหรือนักวิชาการมักจะอธิบายในลักษณะที่ทำให้รู้สึกว่ายาก(ขึ้น) หากแต่คณาจารย์ที่นี่สามารถอธิบายออกมาได้เข้าใจง่ายและได้อารมณ์มาก (เธอใช้คำว่า “เข้าใจอย่างเว่อร์ๆ” เลยทีเดียว) ซึ่งเธอยังสามารถจดจำทฤษฎีต่างๆ ได้อยู่จนถึงทุกวันนี้ เธอเล่าว่าการเรียนที่นี่ทำให้เธอรู้สึกสนุกที่จะกลับมาอ่านหนังสือเพิ่มเติม วาดเขียนตาราง (chart) ทั้งทำความเข้าใจใหม่และเขียนออกมาเป็นความคิดของตนเอง (rewrite) น้องมะปรางยังเล่าถึงความประทับใจที่มีต่อคณาจารย์ในเรื่องของการปฏิบัติต่อนักศึกษาต่างชาติที่แตกต่างกันที่ว่าไม่ได้ออกแนวเหยียดเชื้อชาติ (Racism) แต่เป็นรูปแบบความแตกต่างทาง “วัฒนธรรม” โดยอาจารย์จะมีความระมัดระวังตัวและมีความเกรงในเรื่องของการปฏิบัติตนต่อนักศึกษาต่างชาติอย่างมาก ยกตัวอย่างในการสอนหรือถามคำถาม อาจารย์จะมีความระแวดระวังในการถาม ไม่ให้เป็นการถามที่กระทบความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนต่อนักศึกษามากเกินไป โดยน้องมะปรางยกตัวอย่างนักศึกษาชาวจีนคนหนึ่งที่ถูกถามเรื่องราวเกี่ยวกับธิเบต โดยเธอสังเกตต่อว่าอาจารย์จะรับมืออย่างไร ทำอย่างไรให้นักศึกษายอมรับความแตกต่าง อาจต้องคิดในแง่บวก (positive thinking) หรือระวังคำพูดหรือท่าทางในการแสดงออก อย่างไรก็ดี การเรียนที่นี่ค่อนข้างเหมาะกับบุคคลที่ต้องการเป็นนักวิจัย อาจารย์หรือแม้กระทั่งนักกำหนดนโยบาย เนื่องจากเน้นการวิเคราะห์ทฤษฎีต่างๆ แบบอัดแน่นแต่บางครั้งก็ไม่ได้เน้นการใช้งานจริง น้องมะปรางกล่าวว่าเธอคิดไม่ผิดเลยที่เลือกเรียนปูพื้นฐานทั้งทางสายสังคมศาสตร์และ Gender Studies จากมหาวิทยาลัยคอนสตันซ์มาก่อน เพราะการเรียน Gender Studies ที่นี่เน้นในเรื่องประวัติศาสตร์และวรรณกรรม ที่นำทฤษฎีบทมาวิเคราะห์ร่วมกับสถานการณ์ ทำให้เธอมีพื้นฐานที่แน่นมาก และที่สำคัญยิ่งขึ้นไปเมื่อเธอได้มีโอกาสเห็นของจริงที่ขยายวงกว้างมากขึ้นเมื่อมาเรียนต่อปริญญาโททาง Gender Studies ณ Humboldt Universität zu Berlin ซึ่งที่นี่จะมีวิธีการเรียนการสอนที่แตกต่างกันไป โดยจะเน้นวิธีการแก้ไขปัญหา การหาทางเลือกหรือทางออกของปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคมปัจจุบัน โดยเอาผลการทดลองมาวิเคราะห์ ให้ได้ใกล้เคียงกับสภาพความเป็นจริงมากขึ้น ทั้งยังมีการนำปัญหาหรือเรื่องราวในสังคมตามหน้าหนังสือพิมพ์มาพูดคุยแบบวิเคราะห์วิพากษ์อย่างเจาะลึกตามหลักวิชาการ จึงมีความทันสมัยของปัญหาที่วิเคราะห์กันอยู่เสมอ การเรียนการสอนวิชานี้จึงต้องเป็นคนที่ทันสมัย ติดตามข่าวสารบ้านเมือง และ “กล้า” ที่จะตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัวที่เคยชินมาตลอดชีวิตและต้องพร้อมที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่เสมอๆ โดยการตั้งคำถามสำคัญในการเรียนที่ว่าจะหาวิธีการอย่างไรเพื่อให้สังคมที่มีคนหลายๆ คนมาอยู่ร่วมกันได้ โดยไม่เกิดปัญหาขึ้น ในเบอร์ลินเมืองหลวงที่ได้ชื่อว่ามีความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมอันดับต้นๆ ของยุโรปและขยายวงกว้างไปสู่ระดับนานาชาติ น้องมะปรางยังเล่าให้เห็นภาพถึงความหลากหลายที่เกิดขึ้นที่ว่า หากเรามีโอกาสเดินในเบอร์ลิน จะสามารถสังเกตได้ว่ามีหลากหลายย่านของเมืองด้วยกัน และไม่น่าเชื่อว่าเราสามารถแยกแยะคนที่เดินผ่านเราได้ว่ามาจากย่านไหน จากการสังเกตพฤติกรรมและการแต่งตัว ยกตัวอย่างเช่น คนในย่าน Friedrichstraße ที่จะแต่งตัวหรูหรา ถือกระเป๋าราคาแพงเดินฉวัดเฉวียนไปมา หรือย่าน Friedrichshain ที่เป็นย่านศิลปิน (น้องมะปรางแอบเล่าถึงความรู้สึกประหลาดสุดๆ ที่เธอรู้สึกแต่งตัวไม่เข้ากับย่านเสมือนว่าเดินพลัดหลงเข้าไปเลยทีเดียว)
น้องมะปรางยังอธิบายจุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอตัดสินใจมาเรียนปริญญาโทต่อที่เบอร์ลินว่า หลังจากที่เธอมาเรียนภาษาและเรียนปริญญาตรีมาร่วม 7 ปีด้วยกันแล้ว เธอเริ่มรู้สึกว่าอยู่มานานและเบื่อๆ กับชีวิตแบบเดิมๆ ถึงแม้จะรู้สึกชอบในเวลาเดียวกันก็ตาม เพราะระบบที่ดีและเป็นขั้นตอนของประเทศนี้ เสมือนว่าเมื่อเรานับ 1 2 3 เราก็จะรู้ผลว่า 4 5 6 จะตามมา (หากเรายึดระบบเลขฐาน 10) เธอจึงต้องการเสาะแสวงหาเมืองที่สามารถกระตุ้นอะดรีนาลินของเธอให้สามารถกลับมาพลุ่งพล่านได้ (อย่างเดิมหรือดีกว่าเดิม) ซึ่งนั่นคือเมืองหลวงแห่งเยอรมนี กรุงเบอร์ลินนั่นเอง เธอเสริมต่อว่าข้อดีของการเรียน Gender Studies ในเมืองหลวงของประเทศเยอรมนี ซึ่งยากที่จะหาได้จากที่อื่นๆ คือการได้เห็นของจริงเสมือนว่าออกมาจากตำราเรียน ทั้งปัญหาการเหยียดเชื้อชาติ การเลือกปฏิบัติ (Discrimination) ได้เห็นตัวอย่างจากการเหยียดชนชาติตุรกี การที่คนตุรกีหางานดีๆ ได้ยาก การที่เด็กตุรกีต้องเข้าเรียนแยกโรงเรียนกับเด็กเยอรมัน นอกจากนั้นยังได้เห็นการเลือกปฏิบัติแบบแอบแฝงของเจ้าหน้าที่รัฐว่าเป็นเช่นไร ซึ่งปัญหาเหล่านี้สามารถส่งผลกระทบทางการเมืองต่อไปได้อีก นอกจากนั้นยังมีปาฐกถา (Vortrag) ในตอนเย็นที่มหาวิทยาลัย การชุมนุมประท้วง การร่วมลงชื่อเห็นด้วยหรือคัดค้านโครงการต่างๆ การทำกิจกรรมร่วมกันในหมู่นักศึกษาและยังมีการเชิญรัฐมนตรีมาพูดคุย เสน่ห์คือได้เห็นของจริง เธอกล่าวว่าชีวิตมีสีสันมากที่เธอได้มีโอกาสเห็นนักการเมืองหรือบุคคลสำคัญๆ มานั่งคุยงานกันพร้อมกับทานข้าวไปด้วยอยู่ข้างๆ อย่างไม่คาดคิด นอกจากนั้นยังเป็นที่รู้กันในสายสังคมศาสตร์ว่าถ้าใครที่ศึกษา Gender Studies ในยุโรปนั้น จะต้องมีช่วงชีวิตหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยแห่งนี้ โดยอาจจะมาเป็นพนักงานหรือผู้ช่วยทำงาน (Mitarbeiter) หรือ คณาจารย์รับเชิญ (Gastprofessor) ฯลฯ อยู่ระยะหนึ่ง
สำหรับการเรียนสาขาวิชา Gender Studies ระดับปริญญาโทที่ Humboldt Universität zu Berlin นั้น จะเรียนอยู่ 4 เทอม ด้วยกัน โดยนักศึกษาสามารถเก็บวิชาเรียนต่าง ๆได้ภายใน 2 เทอมแรก ซึ่งที่นี่จะเน้นอยู่สามแนวทาง ได้แก่ Anti-Discrimination (การต่อต้านการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกัน) Racism (การเหยียดผิวและรวมไปถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม) และ Labour (แรงงานและความไม่เป็นธรรมในสังคม) ซึ่งเธอยังแนะว่าคนที่เรียนมาทางวัฒนธรรมศึกษา (Kulturwissenschaft) จะสามารถโยงเข้ากับการเรียน Gender Studies ได้มาก โดยน้องมะปรางเล่าต่อว่าวิชาที่เธอเรียนแล้วชอบมากมีสองตัวหลักๆ คือ Diversity management (การบริหารความหลากหลาย) และ Anti-Discrimination (การต่อต้านการเลือกปฏิบัติ) ส่วนเรื่องที่เรียนมากหน่อยเป็นอันดับสามคือ Politik der Körper (การเมืองเรื่องร่างกาย) ซึ่งจะกล่าวถึงร่างกายและมุมมองของความงาม การจัดการร่างกายและเนื้อตัวของตนเอง การที่เรายอมรับ นับถือ ปฏิบัติต่อเนื้อตัวร่างกายของเราอย่างไร และยอมรับในความต่างของคนอื่นได้อย่างไร ถ้าเราเข้าใจและยอมรับได้ เราจะสร้างคุณค่าและความเชื่อมั่นในตนเองได้ตามมา นอกจากนี้ยังมีวิชาทั่วไปที่คนเรียนสาขานี้จะต้องเรียน เช่น วิชาที่เกี่ยวกับการสร้างความเสมอภาคในสังคม วิชาที่เกี่ยวกับทฤษฏีสตรีนิยม ระเบียบวิธีวิจัยทางสังคมศาสตร์โดยทั่วไปและที่เฉพาะเจาะจงสำหรับสาขาวิชา โดยเธอใช้เวลาประมาณ 6 เดือนในการเขียนงานวิทยานิพนธ์ เธอเล่าว่าที่นี่จะเน้นการเรียนรู้แบบจับประเด็น จะมองเชิงโครงสร้างเป็นส่วนใหญ่ โดยมองเชิงปัญหาและแก้ไขทางโครงสร้างมากกว่าที่ตัวบุคคล ซึ่งใน 2 เทอมหลังเป็นการทำวิจัยที่ไม่ใช่เรื่องเดียวกับวิทยานิพนธ์ เธอเล่าต่อว่าการมาเรียนที่นี่มีกิจกรรมนอกห้องเรียนเยอะ ทั้งเวิร์คชอปและเสวนาต่างๆ ที่ไม่เก็บค่าเข้าร่วมงาน อีกทั้งภายในงานหรือในชั้นเรียนยังเต็มไปด้วยบุคคลที่มีชื่อเสียงทั้งทางด้านสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์และการเมืองของประเทศและในยุโรปมาสอนหรือเสวนาแลกเปลี่ยนกันทางด้านความคิด อย่างไรก็ตามข้อด้อยในการศึกษาที่นี่ก็มีอยู่บ้าง เช่น ความรู้สึกอยู่ตัวคนเดียวเนื่องจากการมีอิสระในวิชาเลือกที่มีอยู่มากมาย จึงขาดบรรยากาศในการเรียนรวม ซึ่งขึ้นอยู่กับวิชาที่เลือกร่วม และในบางครั้งเธอก็พบเจอกับทฤษฎีบทที่ไม่คุ้นเคย
แต่อย่างไรก็ดี น้องมะปรางกล่าวว่าสำหรับเธอแล้ว กรุงเบอร์ลินเป็นเมืองที่เหมาะกับการเรียนสายสังคมศาสตร์เป็นอย่างมาก เพราะมีความหลากหลายในการใช้ชีวิตมากที่สุดในยุโรป (เธอว่าแค่นั่งข้างถนนสังเกตผู้คนที่เดินผ่านไปมาก็สนุกแล้ว) นอกจากนั้นยังมีจุดขายสำคัญที่ว่า เป็นเมืองหลวงที่มีค่าครองชีพถูกและยังไม่มีแนวโน้มที่ค่าครองชีพจะแพงขึ้นในเร็ววันนี้ สิ่งนี้จึงกระตุ้นนักลงทุนหน้าใหม่ให้เข้ามาลงทุนในเมืองนี้ ดังจะเห็นจากตึกที่เต็มไปด้วยออฟฟิศที่ทำงาน แรงจูงใจด้านภาษี นอกจากนั้นในย่านศิลปะ ยังมีศิลปินหน้าใหม่ๆ ที่เคยมาใช้ชีวิตที่นี่อยู่เต็มไปหมด เธอยังยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เราเห็นง่ายๆ ว่า ความเป็นนานาชาติของเมืองต่างๆ ในประเทศเยอรมนีนั้น เมืองฮัมบวร์กก็เป็นอีกเมืองหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงเช่นเดียวกับเบอร์ลิน หากแต่แรงงานที่อยู่ในฮัมบวร์กนั้นกลับเป็นแรงงานที่มีราคาแพง ค่าครองชีพสูง ในขณะที่ในเบอร์ลินนั้น ไม่มีอุตสาหกรรมการผลิตใหญ่ รายได้หลักๆ ก็มักจะมาจากการท่องเที่ยวเสียมากกว่า แรงงานส่วนใหญ่จึงเป็นผู้ใช้แรงงานและมักอยู่ระยะยาวแบบลงหลักปักฐาน แรงงานที่มีอยู่จึงเป็นภาระของรัฐ ไม่เหมือนในเมืองฮัมบวร์กที่มีท่าเรือ มีอุตสาหกรรมใหญ่ๆ มากมาย ผู้คนจึงสามารถจ่ายภาษีได้สูง
ในช่วงเวลาที่ศึกษาอยู่ ณ ประเทศเยอรมนี น้องมะปรางไม่ได้คร่ำเคร่งแต่กับการเรียนหนังสือเท่านั้น หากแต่เธอยังเป็นอาสาสมัครช่วยงานที่สมาคมบ้านหญิง ซึ่งเป็นสมาคมที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมันมากว่า 20 ปีแล้ว โดยจุดประสงค์หลักของสมาคมคือการช่วยเหลือผู้หญิงที่ตกทุกข์ได้ยาก ซึ่งอาจจะเกิดจากการแต่งงาน ถูกล่อลวง และไม่ได้มีเฉพาะคนไทยเท่านั้น หากแต่จะเห็นทั้งคนฟิลิปปินส์ ชาวแอฟริกัน คนยุโรปตะวันออก ฯลฯ มากมายเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากกระแสโลกาภิวัฒน์และความสลับซับซ้อนของปัญหา โดยการทำงานของสมาคมจะแบ่งเป็นสองส่วน คือ ส่วนให้คำปรึกษา ซึ่งจะเปิดเป็นสาธารณะให้ผู้ที่สนใจเข้ามาซักถามได้ และส่วนที่ปิดเป็นความลับเนื่องจากความปลอดภัย เรียกว่า “บ้านพักฉุกเฉิน” ซึ่งงานที่น้องมะปรางได้มีโอกาสไปทำคือส่วนบ้านพักฉุกเฉิน โดยเธอรับผิดชอบเป็นล่ามสด คอยแปลเรื่องราวที่ทราบมาจากผู้ประสบปัญหาและถ่ายทอดต่อให้แก่เจ้าหน้าที่ชาวเยอรมันในกระบวนการแก้ปัญหาต่อไป งานหลักๆ ของเธอจึงเป็นการช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก โดยต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจแก่บุคคลเหล่านี้ให้ยอมเปิดเผยความเป็นจริงออกมา แต่จากประสบการณ์ตรงของเธอนั้น หลังจากได้มีโอกาสพูดคุยกัน เธอจะรู้สึกเห็นใจผู้ประสบปัญหาเป็นอย่างมาก เพราะบางกรณีที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเหตุการณ์ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้น ทำให้ในบางครั้งเธอเองเกิดความรู้สึกยากลำบากที่จะทำใจให้เป็นกลางได้ ซึ่งหลายๆ คนที่เธอรู้จักที่ทำงานอยู่ตรงนี้ บางครั้งก็เกิดความท้อแท้ มีความรู้สึกจิตตก ถึงขั้นเมื่อกลับบ้านแล้วต้องทำใจปล่อยวางให้ได้ เพราะงานอีกอย่างคือต้องให้คำแนะนำในการบริหารคนในบ้านของผู้ที่มีปัญหาให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขเพราะมักจะเกิดความขัดแย้งภายในอยู่เนืองๆ ซึ่งผู้ตกทุกข์ได้ยากเหล่านี้มักจะไม่ต้องการพูดคุยโดยตรงกับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเพราะมีระยะห่างเกิดขึ้น น้องมะปรางยังกล่าวต่อกับเราว่า การเรียน Gender Studies แล้วได้มีโอกาสมาทำงานอาสาสมัครตรงนี้ ทำให้ได้เห็นความแตกต่างและสามารถเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง และที่สำคัญที่สุดคือ ได้รู้จักความรู้สึก “เห็นใจเพื่อนมนุษย์”
มาถึงคำถามโลกแตกที่หลายๆ คน (โดยเฉพาะคนไทย!) มักสงสัยและไถ่ถามถึงอาชีพในอนาคตหลังจากสำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาทางสังคมศาสตร์ต่าๆ น้องมะปรางยิ้มก่อนแจงให้เราฟังถึงงานทางสาย Gender Studies ที่มักแฝงตัวอยู่ในการทำงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแนวเอ็นจีโอ (องค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร) หรือตามมูลนิธิและองค์กรอิสระต่างๆ ในบ้านเราหรือแม้แต่ในสื่อบันเทิงก็ตาม เธอยังกล่าวติดตลกว่าหากเธอไม่ต้องกลับไปรับราชการที่เมืองไทยเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว เธออาจจะกลับเข้าไปช่วยเหลือผู้หญิงไทยต่อไปในสมาคมบ้านหญิงก็เป็นได้ โดยอาจเข้าไปเป็นนักวิชาการ นักประชาสัมพันธ์โดยตรงหรืออาจเป็นผู้ให้คำปรึกษา (consultant) ที่อยู่ในส่วนที่เปิดเผย เพราะเธอเองยังมีความสนใจที่จะทำงานเป็นนักวิจัยที่ทำโครงการทางด้านเพศสภาพ (Gender) แต่หากใครมีความสนใจที่จะทำงานในต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มสหภาพยุโรปแล้ว การศึกษา Gender Studies นั้น มักจะหางานทำได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นองค์กรการกุศลต่างๆ นักหนังสือพิมพ์หรือนักเขียน โดยเฉพาะในสายการบริหารทรัพยากรมนุษย์ (Human Resources) เนื่องจากในสหภาพยุโรปปัจจุบันนี้ การรับคนเข้าทำงานมีความสำคัญมาก ผู้บริหารจึงต้องมีการบริหารความหลากหลาย (Diversity Management) ที่ดี สิ่งนี้จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในการกำหนดนโนบายต่อไป ยกตัวอย่างเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual Harassment) ที่เกิดขึ้นในที่ทำงาน ก็ย่อมต้องการการจัดระเบียบขึ้น นอกจากนั้น งานทางสื่อก็มีความสำคัญอยู่ไม่น้อยเพราะส่วนใหญ่คนผลิตสื่อจะไม่ค่อยมีมุมมองทางเพศสภาพ (Gender) มากนัก จึงมักทำสื่อออกมาในรูปแบบเดิมๆ ไม่ค่อยมีประเด็น หรือถ้ามีก็ไม่แหลมคมเท่าที่ควร
ปัจจุบันน้องมะปรางทำงานเป็นนักทรัพยากรบุคคลระดับปฏิบัติการที่สำนักวิจัยและพัฒนาระบบงานบุคคล (สวพ.) สายวิชาการ โดยดูภาพรวมของราชการทั้งระบบ เธอกล่าวว่าจริงๆ แล้วก็ไม่ได้ทำงานตรงกับสายที่เรียนมามากนัก แต่ก็มีโอกาสได้รับมอบหมายให้ไปประชุมหรือสัมมนานอกสถานที่ในประเด็นที่เกี่ยวข้องอยู่บ่อยครั้งและเธอก็ได้นำความรู้ที่เรียนมาปรับใช้ในงานที่ดูแลอยู่เป็นโครงการๆ ไป ยกตัวอย่างงานที่น่าสนใจซึ่งเธอเพิ่งไปสัมผัสมาสดๆ ร้อนๆ เช่น การร่วมเป็นวิทยากรในการพัฒนาหลักสูตรสตรีศึกษา (Women Studies) ให้เป็นเพศสภาพศึกษา (Gender Studies) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนั้นยังมีเครือข่ายผู้หญิงมาร่วมประชุมสัมมนาและเชิญเธอเข้าร่วมประชุมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานบุคคล (Human resource: HR) ในการบริหารทุนมนุษย์หรือการสัมมนาเพื่อผลิตสื่อแนวใหม่สำหรับผู้หญิง เป็นต้น
กล่าวถึงกรณีที่มักเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งกับนักศึกษาไทย (โดยเฉพาะนักเรียนทุนรัฐบาลไทยประเภทต่างๆ) ที่มาศึกษาอยู่ต่างประเทศเป็นระยะเวลาหนึ่ง แล้วต้องกลับไปรับราชการหรือทำงานในระบบแบบสังคมไทยที่ระบบความคิดและการทำงานค่อนข้างแตกต่างจากประเทศที่ตนมาศึกษาอยู่นานๆ นั้น เธอเล่าว่าบางครั้งก็รู้สึกอึดอัดใจเช่นเดียวกันเพราะมีความรู้สึกว่า (ต้อง) รับเข้าอย่างเดียว ไม่สามารถระบายออกมาได้ โดยจากประสบการณ์ที่เธอกลับมารับใช้ประเทศชาตินั้น เธอเล่าให้เราฟังอย่างอัดอั้นเล็กน้อยว่า เธอรู้สึกว่าในประเทศไทยมีคำอธิบายเหตุการณ์ต่างๆ อยู่เพียงสามแบบ คือ 1. ไม่เป็นไร 2. ช่างเถอะ 3. เดี๋ยวก็ชิน ซึ่งเธอกล่าวต่อว่า คำอธิบายดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นคำอธิบายแต่กลับเป็นคำปลอบใจ ชักจูงใจเสียมากกว่า มันชวนให้เพิกเฉยและไม่ตั้งคำถามหรือค้นหาแนวทางแก้ไข แต่เป็นลักษณะของสังคมไทยที่ว่าน้อยคนนักที่จะลุกขึ้นมาแสดงออกหรือทำอะไร ทุกวันนี้อาจมีการต่อต้านหรือแอบเกิดกบฏแม้แต่ในที่ทำงานต่างๆ จริงอยู่ที่ว่าแนวคิดแบบยุโรปเข้ามาในสังคมเรามาแต่ไหนแต่ไรแล้วแต่ยังไม่มากพอ แต่ก็เริ่มอุบัติขึ้นมาแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อไปตอนนี้จึงเป็นการ “รอ” โดยรอเพื่อให้สังคมเกิดความพร้อม รอให้กระแสขี้สงสัย ฉุกคิดในทุกเรื่องเกิดขึ้นในสังคม แต่ไม่ใช่การ “รอ” โดยไม่เริ่มต้นทำอะไร ยกตัวอย่างที่เห็นชัดมากขึ้นในสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ค ที่เริ่มมีการตั้งคำถามกันขึ้นมาว่าทำไมสิ่งต่างๆ ถึงเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ ตรงนี้เป็นสิ่งที่ดีเพราะเกิดกระบวนการตั้งคำถามมากขึ้น คนชายขอบหรือคนที่อยู่ในกลุ่มต่างๆ เริ่มออกมาแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเท็จจริงแก่สังคมมากขึ้น เกิดการปลดปล่อยให้คนที่อยู่ต่างที่ได้รับทราบว่ามีปัญหาเกิดขึ้นในอีกแห่งหนึ่ง เมื่อเกิดแรงดันมากๆ เข้า ก็เข้าไปอยู่ในความรับรู้ของสังคมมากขึ้นและเกิดการแก้ไขปัญหาโดยไม่ต้องรีรอต่อไปในที่สุด เธอกล่าวว่าหลายๆ คนยังคิดว่าสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไม่ได้ หากแต่แท้จริงแล้วยังมีหวังอยู่เพราะทุกวันนี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เพียงแต่ปัจจุบันเราต้องอดทน โดยส่วนตัวแล้วเธอ “เชื่อในคนตัวเล็ก เชื่อในปัจเจกว่าจะนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ระบบหรือโครงสร้างแบบเดิมๆ ได้ในที่สุด” กล่าวคือการจะเปลี่ยนแปลงได้นั้นต้องทำไปพร้อมๆ กัน ไปทั้งระบบและโครงสร้างศักยภาพที่ต้องสอดรับกันไปในทุกๆ ด้าน
เธอยังเสนอแนวคิดที่น่าสนใจกับเราว่า สังคมไทยนั้นมีข้อควรระวังคือ เรามักจะคิดกันว่าเราทำดีเพื่อสังคม แต่เราก็เอาความดีเหล่านั้นไปวางกรอบให้คนอื่นๆ ให้เกิดเป็นบรรทัดฐาน เกิดชุดความคิดใหม่ๆ ที่อาจก่อให้เกิดการตีตราหรือเหยียดคนอีกกลุ่มหนึ่ง ยกตัวอย่างชุดความคิดที่ว่า คนที่จนแล้วเครียด มักกินเหล้า และเมื่อกินเหล้าก็จะไม่มีความรับผิดชอบ เป็นคนเลว แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่ว่าทุกคนจะเป็นอย่างชุดความคิดต่างๆ ที่ตั้งกันขึ้นมาอยู่เสมอไป ประเด็นคือไม่ควรสร้างชุดความคิดแบบเหมารวม เพราะแต่ละกรณีแต่ละคนย่อมมีความซับซ้อนในตนเองและไม่ควรไปตัดสินใจแทน เธอยังเสนอแนะสิ่งที่น่าสนใจว่า เราควร 1. เปิดโอกาสให้แก่คนที่ด้อยโอกาสในสังคม การเปิดใจรับฟังถือเป็นการให้โอกาสที่ง่ายที่สุด 2. การมองปัญหาที่เกิดขึ้นระดับปัจเจกและยกระดับปัญหานั้นเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง มุ่งเน้นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างหรือระบบ พร้อมทั้งพัฒนาระบบการตรวจสอบควบคู่กันไป 3. เพิ่มทางเลือกแต่ไม่ต้องตัดสินใจแทน ยกตัวอย่างเช่น ลองจินตนาการถึงโรงอาหารที่มีอาหารให้เลือกมากมายหรือโปรโมชั่นโทรศัพท์มือถือต่างๆ ที่มีโปรโมชั่นการโทรเข้า-โทรออกให้เลือกสรรตามความเหมาะสมของแต่ละคน ซึ่งทุกคนมี “สิทธิ” ในการเลือกและ “จ่าย” เฉพาะแค่สิ่งที่ตนต้องการเท่านั้น หากแต่ในสังคมไทยมักไม่มีทางเลือกและบ่อยครั้งที่มักล้ำเส้นกัน หลายครั้งที่เราต้องตกอยู่ในสภาวะจำยอมอย่างไม่รู้ตัว และที่สำคัญคือสังคมไทยไม่มีที่ว่างสำหรับความแตกต่าง เธอยังเน้นอีกว่า เราสามารถมองเห็น “ความต่าง” นั้นได้ แต่ความต่างนั้นจะต้องไม่ถูก “ตีค่า” ต่อไป
ก่อนจากกันคราวนี้ น้องมะปรางยังฝากไปถึงอีกหลายๆ คนในสังคมอันบิดเบี้ยวของเราว่า การตั้งคำถามกับสิ่งที่เข้ามาในชีวิตอยู่เสมอๆ จะทำให้เราตื่นตัวและ “รับรู้” กับความแตกต่างที่เกิดขึ้น จากนั้นการ “ยอมรับ”ความแตกต่างของผู้อื่นก็เป็นสิ่งสำคัญที่ตามมา การปล่อยให้ความเคยชินครอบงำตนเอง จะทำให้เราไม่ได้เฉลียวใจในสิ่งนี้ เธอยังกล่าวอย่างยินดีอยู่ไม่น้อยว่าการที่มีโอกาสมาเรียนนอกประเทศไทยเป็นสิ่งดีที่เกิดขึ้นในชีวิต เพราะเมื่อเดินทางออกมา แล้วหันหลังกลับไปมอง เราจะเห็นความแตกต่างที่เกิดขึ้น นอกจากนั้นเธอยังเน้นย้ำว่าต้องเป็นประเทศนี้เท่านั้น เพราะประเทศเยอรมนีแห่งนี้ สอนให้ชีวิตเธอรู้จักกับ “ความแตกต่าง” อย่างแท้จริง
นิตยสาร opnmnd ฉบับเต็มสามารถดาวน์โหลดได้ ที่นี่
Image Source:
http://www.gayly.com
https://www.saddleback.edu
http://www.lto.de
http://www.goethe.de
http://www.usd.edu