การเรียนวิชากฏหมายในประเทศเยอรมนี

TSVDMag

 

 

ผู้เขียน พรรณพร อัชวรานนท์ (แจน)

จากคอลัมน์ “Wissen ♯” (TSVD Magazine, Spring Issue 2012)


สวัสดีค่ะ พี่น้องสมาชิกนิตยสาร TSVD Magazine ของเรา วันนี้ขอแนะนำคอลัมน์น้องใหม่สดๆซิงๆ เกี่ยวกับเรื่องน่ารู้ต่างๆในการศึกษาต่อในประเทศเยอรมนี เบิกโรงคราวนี้ เราขอนำเสนอการเรียนวิชากฏหมายในประเทศเยอรมนีก่อนเลยนะคะ สาขาที่ได้ชื่อว่าเรียนยากหนักหนาสาหัสสากรรจ์แค่ไหน.. วันนี้ Wissen ♯ จะพาไปเจาะลึกการเรียนวิชานี้กันค่ะ

หลายคนเคยสงสัยกันบ้างไหมเอ่ย? เวลาเดินผ่านหนุ่มๆสาวๆกฎหมายในห้องสมุด หากสังเกตให้ดี หนุ่มสาวนักกฎหมายเหล่านี้จะถือหนังสือเล่มไม่ใหญ่ไม่เล็ก หากแต่มีความหนาเป็นพิเศษ เวลาเปิดออกมากางไว้บนโต๊ะ จะเสมือนนั่งอยู่ในศาลในบันดล ดูเผินๆยังนึกว่าเป็นหนังสือเรียนโรงเรียนพ่อมดฮอกวอตส์กันเลยทีเดียว แถมยังมีหูหิ้วถนัดในการพกพาอีกต่างหาก หนังสือดังกล่าวคือหนังสือรวมตัวบทกฎหมายที่นักศึกษากฎหมาย (ต้อง) หิ้วกันเป็นล่ำเป็นสัน หนึ่งในตัวอย่างหนังสือนี้คือ Bürgerliches Gesetzbuch (BGB) ประมวลกฎหมายแพ่งเล่มโต๊โตนั่นเอง..

TSVDMag

 

เข้าเรื่องกันดีกว่า.. ตามปกติแล้วการเรียนสาขาวิชากฎหมายในประเทศเยอรมนีนั้น จะมีให้เลือก 4 สาขาหลัก ได้แก่

1. กฎหมายมหาชน (Öffentliches Recht) เป็นกฎหมายว่าด้วยการใช้อำนาจของรัฐ ในลักษณะความสัมพันธ์ทางกฎหมาย (นิติสัมพันธ์) ที่ฝ่ายหนึ่งมีอำนาจเหนือกว่าอีกฝ่าย เช่น รัฐกับเอกชน
2. กฎหมายเอกชน/ แพ่ง (Bürgerliches Recht) เป็นกฎหมายว่าด้วยการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในนิติสัมพันธ์ ที่ทั้งสองฝ่ายมีอำนาจเท่าเทียมกัน เช่น เอกชนและเอกชน
3. กฎหมายระหว่างประเทศ (Internationales Recht) เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ซึ่งโดยทั่วไปแม้จะถือเป็นกฎหมายสาขาใหญ่ที่มีลักษณะเฉพาะ แต่ระบบการเรียนในประเทศเยอรมันจะจัดกฎหมายระหว่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายมหาชน
4. กฎหมายอาญา (Strafrecht) เป็นกฎหมายว่าด้วยการกระทำที่ถือเป็นเหตุแห่งความผิดทางอาญาและโทษที่กฎหมายบัญญัติ

โดยการเรียนกฎหมายในประเทศเยอรมนียังต้องเรียนเป็นภาษาเยอรมันเท่านั้น (ยังไม่มีคอร์สเรียนภาษาอังกฤษ) โดยต้องยื่นผลการสอบ Deutsche Sprachprüfung für den Hochschlzugang (DSH) หรือ Test Deutsch als Fremdsprache (TestDaF) ประกอบด้วย

เล่าๆไปเดี๋ยวพี่น้องจะไม่เห็นภาพ ทาง Wissen ♯ เลยหาโอกาสไปสัมภาษณ์นักศึกษากฎหมายสามสาว สามเมือง สามแคว้นในประเทศเยอรมนีอย่างถึงพริกถึงขิงเลยค่ะ ลองไปรู้จักสาวๆกันเลยนะค่ะ…

Sirinya-Ant

ศิริญญา ทองแท้สมจริง (แอนท์)

นิติศาสตร์บัณทิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เนติบัณฑิตไทย
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
Magister Legum (LL.M.), Georg-August-Universität Göttingen
กำลังศึกษาปริญญาเอก สาขากฎหมายมหาชน ณ Georg-August-Universität Göttingen

 

พี่แอนท์เพิ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ด้านกฎหมายมหาชนมาหมาดๆจาก Georg-August-Universität Göttingen และกำลังศึกษาปริญญาเอกในสาขากฎหมายมหาชน ณ มหาวิทยาลัยเดียวกัน เธอให้ความรู้กับนิตยสารเราว่าปกตินักศึกษาที่จบปริญญาโทกฎหมายจากเมืองไทยจะไม่สามารถสมัครต่อปริญญาเอกที่นี่ได้ทันที หากแต่ต้องมาเรียนปริญญาโทที่นี่ก่อนเพื่อปรับระดับความรู้ให้เป็นไปตามแบบแผนและระบบของประเทศเยอรมนีเสียก่อน

ก่อนที่การสนทนาของเราจะเข้มข้นไปกว่านี้พี่แอนท์ได้แนะนำหลักเบื้องต้นในการมาเรียนกฏหมายในประเทศเยอรมนีว่ามีหลักในการเลือกมหาวิทยาลัยอยู่ 3 ประการ สิ่งแรกคือต้องศึกษาว่ามหาวิทยาลัยดังกล่าวมีคณาจารย์ที่สอนในสาขาที่เราต้องการจะศึกษาหรือไม่ ประการที่สองคือให้ดูห้องสมุดว่ามีหนังสือหรืออุปกรณ์การเรียนที่ครบครันหรือไม่เพราะการศึกษากฎหมายจะต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองในห้องสมุด ประการสุดท้ายคือให้ดูขนาดของเมืองว่ามีความเล็กหรือใหญ่ อยู่ในระดับความพึงพอใจของเรามากน้อยแค่ไหน เพราะนักศึกษาบางคนอาจจะชอบอยู่ในเมืองใหญ่ ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกสบายครบครัน ในขณะที่บางคนชอบพำนักในเมืองเล็กที่เป็นเมืองมหาวิทยาลัย มีความเป็นอยู่อย่างง่ายๆสบายๆ ผู้คนมีความเป็นกันเอง

การเรียนปริญญาโทด้านกฎหมายที่ Georg-August-Universität Göttingen พี่แอนท์เล่าว่าตนใช้เวลาเรียนประมาณสองปี โดยยื่นผลสอบภาษาเยอรมันระดับ DSH 2 ขึ้นไปในการสมัครเข้าเรียน ส่วนปริญญาเอก จะใช้เวลาประมาณสี่ปี โดยสาขาปริญญาโทที่มีให้เลือกที่นี่ นอกจากจะมีกฎหมายมหาชนและเอกชนเป็นหลักแล้ว ยังมีกฎหมายอาญา (Strafrecht) อีกด้วย

ส่วนบรรยากาศในการเรียน พี่แอนท์เล่าว่า การเข้าชั้นเรียนจะเรียนร่วมกับนักศึกษาเยอรมันในระบบการเรียนกฎหมายระดับ Diplom  ไม่มีชั้นเรียนที่แยกเฉพาะสำหรับนักศึกษาต่างชาติ  โดยอาจารย์จะบรรยายเป็นภาษาเยอรมัน (ซึ่งค่อนข้างจะยากในการทำความเข้าใจสำหรับคนไทย) การเรียนจะเรียนวิชากฎหมายหลักเช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา วิชาเหล่านี้จะทำการสอบข้อเขียนร่วมกับนักศึกษาเยอรมัน และเรียนในวิชาเฉพาะตามสาขาที่เลือกเรียน โดยการสอบจะเป็นไปตามกฎที่หลักสูตรกำหนด นอกจากนี้ ยังมีการทำรายงานระหว่างภาคการศึกษา ลักษณะเป็นคดีความที่นักศึกษาต้องค้นคว้าหลักกฎหมายเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาคดี เรียกกันว่า Hausarbeit สิ่งนี้นับเป็นสิ่งที่แตกต่างจากการเรียนกฎหมายในไทย เมื่อสอบผ่านเก็บหน่วยกิจวิชาครบตามกำหนดและระดับคะแนน Hausarbeit ผ่านแล้ว ก็จะมีสิทธิ์ลงทะเบียนเขียนวิทยานิพนธ์ Magistersarbeit และสอบจบเป็นขั้นตอนสุดท้าย พี่แอนท์กล่าวว่าการเรียนกฎหมายที่ประเทศเยอรมนี แน่นอนที่สุดว่านักศึกษาจะได้วิธีการใช้กฎหมายหรือที่เรียกว่านิติวิธี เพราะที่นี่จะฝึกให้เอาทฤษฎีไปใช้ในการทำคดี ซึ่งแตกต่างจากที่เมืองไทยที่จะมีแต่ระบบการสอบเท่านั้น เธอยังยกตัวอย่างการเรียนที่นี่ว่า ตั้งแต่เริ่มเรียนปีหนึ่ง เมื่อแต่ละเทอมสิ้นสุดลง ช่วงปิดเทอมนักศึกษาจะต้องทำรายงานแบบ take home หรือที่เรียกเป็นภาษาเยอรมันว่า Hausarbeit คือมีโจทย์สองหน้ากระดาษ A4 และต้องทำคดีความยาวประมาน 25 หน้าส่งตอนเปิดเทอม เพื่อฝึกให้นักศึกษาฝึกจับหลักกฎหมายและสร้างการคิดให้เป็นระบบ โดยต้องอ้างหลักเกณฑ์เป็นข้อๆไป การฝึกดังกล่าวเมื่อนักศึกษาจบไปจะเป็นนักกฎหมายที่สามารถนำกฎหมายมาใช้ได้จริงในเชิงปฎิบัติ พี่แอนท์บอกว่าการฝึกดังกล่าวสำคัญที่ “ไม่ใช่การท่องจำ หากแต่ต้องเป็นความเข้าใจล้วนๆ” เพราะถ้าจำอย่างเดียวแบบระบบที่เราปฎิบัติกันมาเวลาสอบที่เมืองไทย เมื่อวันหนึ่งกฎหมายถูกเผาไป ก็จะไม่เกิดประโยชน์ใดๆขึ้นมา เธอยังเล่าความแตกต่างในการสอบว่าโดยปกติแล้วที่เมืองไทย เวลาสอบจะไม่อนุญาตให้นำประมวลกฎหมายเข้าห้องสอบ นักศึกษาไทยเลยต้องจดจำประมวลกฎหมายกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่ ที่นี่จะอนุญาตให้เอาเข้า แต่ถ้าเปิดแล้วไม่เข้าใจ ก็ไม่เป็นประโยชน์เช่นเดียวกัน พี่แอนท์ยังให้ข้อสังเกตว่าประเทศเยอรมนีจะเรียนกฎหมายแตกต่างจากเมืองไทยตรงที่เมื่อนักศึกษาที่นี่มีข้อสงสัย เขาจะไม่รีรอที่จะถามอาจารย์ ถึงแม้ว่าอยู่ในห้องเรียนที่มีขนาดใหญ่มาก ก็ยังถามและอาจารย์ก็พร้อมที่จะตอบเสมอ นอกจากนี้ยังมีการถกเถียงกันทางความคิดระหว่างอาจารย์และนักศึกษาเกิดขึ้นในชั้นเรียนอยู่บ่อยๆ เธอยังกล่าวเสียดายที่การศึกษากฎหมายในเมืองไทยมีการแลกเปลี่ยนความคิดน้อยและหวังว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่มากก็น้อยของการศึกษากฎหมายไทยในอนาคต

พี่แอนท์ให้ข้อสังเกตว่าสัดส่วนของนักศึกษากฎหมายในประเทศเยอรมนีนั้นจะมีระดับ Diplom มากที่สุด รองลงมาเป็นนักศึกษาปริญญาเอกและปริญญาโท ทั้งนี้เป็นเพราะระบบการศึกษากฎหมายของชาวเยอรมันที่จะเรียนระดับ Diplom (ซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จะมีคุณวุฒิเทียบเท่าปริญญาโท) แล้วต่อปริญญาเอกเลย มหาวิทยาลัยจึงต้องเปิดระดับปริญญาโทให้นักศึกษาต่างชาติที่จบระดับปริญญาตรีมาก่อนแล้ว (ระบบนี้ไม่มีสำหรับนักศึกษาชาวเยอรมัน) ด้วยเหตุนี้ นักศึกษาปริญญาโทส่วนใหญ่จึงต้องเข้าร่วมชั้นเรียนกับนักศึกษา Diplom ชาวเยอรมันไปโดยปริยาย (บางมหาวิทยาลัยเริ่มมีการแยก) เธอยังให้ความรู้เพิ่มเติมว่าคนไทยส่วนใหญ่ที่มาเรียนกฎหมายในประเทศเยอรมนีมักจะมีอาชีพเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ซึ่งจากประวัติศาตร์การมาศึกษาต่อของนักศึกษาไทยในประเทศเยอรมนี มีแค่ 3-4 คนที่เริ่มต้นเรียนตั้งแต่ระดับ Diplom และสำเร็จการศึกษากลับไปเมืองไทย (ซึ่งยากมากกก… น่าภูมิใจแทนชาวไทยจริงๆค่ะ) แต่ในปัจจุบันมีนักศึกษาชาวไทยสนใจมาเรียนที่ประเทศนี้กันมากขึ้น สืบเนื่องจากที่บางมหาวิทยาลัยและบางรัฐไม่เก็บค่าเล่าเรียน เนื่องจากยังมีการช่วยเหลือจากทางรัฐอยู่ แต่นักศึกษาไทยจำนวนไม่น้อยก็ยังประสบกับปัญหาเรื่องเรียนภาษาเพิ่มและเวลาเรียนที่ยากจะกำหนดให้แน่นอนได้

เธอยังให้ข้อแนะนำในการเลือกเรียนกฎหมายว่าการจะเลือกเรียนที่ประเทศไหนขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ในการนำกฎหมายไปใช้ หากต้องการเรียนเพื่อไปเป็นอาจารย์หรืออาชีพที่ต้องใช้พื้นฐานกฎหมายก็ควรเลือกเรียนในประเทศแถบยุโรปเพราะจะสอนหลักทฤษฎีที่แน่นและระบบความคิดที่ถูกต้อง วิธีการเอากฎหมายไปใช้ (นิติวิธี) ซึ่งสำคัญมากสำหรับนักกฎหมาย คนส่วนใหญ่ที่ตัดสินใจจะมาเรียนที่ประเทศเยอรมนีมักจะเป็นอาจารย์ หน่วยงานราชการ โดยเฉพาะศาลปกครอง (เนื่องจากเพิ่งตั้งหน่วยงานและต้องทำคดีทางกฎหมายมหาชนเป็นจำนวนมาก) นักกฎหมายประจำก.พ. กฤษฎีกา และนักศึกษากฎหมายมหาชน แต่ถ้าหากต้องการที่จะประกอบอาชีพเป็นนักกฎหมายในสำนักงานกฎหมาย (Law Firm)
พี่แอนท์แนะนำให้เรียนที่สหรัฐอเมริกาหรือสหราชอาณาจักร เนื่องจากจะได้ไม่ต้องเสียเวลามาเรียนภาษาเพิ่มเติม โดยสามารถเตรียมสอบภาษาอังกฤษได้จากที่เมืองไทย เวลาที่เรียนค่อนข้างจะแน่นอนกว่า และที่สำคัญตามประเทศดังกล่าวมักจะมีกฎหมายใหม่ๆที่สอดคล้องกับแนวทางการทำงานมากกว่า ส่วนตัวพี่แอนท์เองเลือกมาเรียนประเทศเยอรมนีเนื่องจากตนเองประกอบอาชีพเป็นอาจารย์ และมีความตั้งใจที่จะเรียนทฤษฎีและระบบความคิดทางกฎหมายแบบเยอรมันซึ่งเป็นต้นแบบกฎหมายที่ประเทศไทยนำมาใช้ เพื่อนำไปสอนนักศึกษาไทยต่อไปในอนาคต นอกจากนั้นเธอยังชื่นชอบแนวคิดของประเทศเยอรมนีที่ว่าการศึกษาเป็นสิ่งพื้นฐานที่จัดให้คนในประเทศ หาใช่ธุรกิจเหมือนที่หลายๆประเทศทำกัน ด้วยเหตุนี้ประเทศเขาเองก็ไม่ได้คิดว่าเราแตกต่างกับเขา (ในแง่ของสิทธิขั้นพื้นฐานในการเรียน)

ส่วนตัวของพี่แอนท์เลือกมาเรียนที่ Georg-August-Universität Göttingen เพราะมีความชื่นชอบมหาวิทยาลัยนี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว นอกจากนั้นมหาวิทยาลัยยังมีห้องสมุดที่มีสื่อการเรียนเพียบพร้อมในทางกฏหมาย มีบรรยากาศและสิ่งอำนวยความสะดวกสบายที่เอื้ออำนวยในการเรียน มีสังคมนักเรียนไทยที่อบอุ่น โดยปัจจุบันมีนักเรียนไทยอาศัยอยู่ในเมืองนี้กว่า 20 คน และมีการพบปะกันอยู่สม่ำเสมอ ทำให้ผ่อนคลายความคิดถึงบ้านได้เป็นอย่างดี

เธอยังเน้นย้ำก่อนลาเราอีกว่าสำหรับผู้ที่สนใจจะมาเรียนกฏหมายในประเทศเยอรมนี อย่างแรกคือต้องมีความอดทนและมีกำลังใจเสมอ เนื่องจากจะต้องเรียนภาษาเยอรมันก่อน ซึ่งอาจจะทำให้เสียเวลาไประยะหนึ่ง หากแต่ผลที่จะได้รับกลับมาคุ้มค่าอย่างแน่นอน ถัดมาคือต้องมีความขยันหมั่นเพียรอย่างสม่ำเสมอ เพราะการเรียนกฏหมายในประเทศนี้เป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจอย่างแท้จริง และสุดท้ายคือต้องมีความรับผิดชอบ โดยพี่แอนท์ได้ยกตัวอย่างนักศึกษาหลายคน (โดยเฉพาะที่มาศึกษาต่อด้วยทุนส่วนตัว) ซึ่งต้องเลิกเรียนกลางคันในที่สุด เนื่องจากหมดกำลังใจในการเรียนและสอบภาษาเยอรมัน

พี่แอนท์ยังให้กำลังใจคนที่จะต้องเรียนภาษาเยอรมันก่อนมาเรียนกฎหมายที่นี่ว่าการรู้ภาษาที่นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เราได้ “คลังความรู้” โดยจะเปิดโลกทางกฎหมายของเราให้กว้างขึ้น เพราะงานกฎหมายที่ตีพิมพ์ของชาวเยอรมันจะมีความละเอียด ครอบคลุมเนื้อหาและมีตัวอย่างการนำไปปฎิบัติได้จริง ซึ่งยังหาได้ยากในบ้านเรา เธอถึงขั้นเน้นว่าคุ้มมากเพราะเมื่อ “เข้าใจ” ภาษา ก็ถือเป็น “กำไร” ในการศึกษากฎหมายที่นี่แล้ว

หากใครสนใจที่จะศึกษาต่อสาขาปริญญาโททางกฎหมายที่มหาวิทยาลัยของพี่แอนท์ Georg-August-Universität Göttingen สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก http://www.uni-goettingen.de/de/91432.html

ข้อมูลสาขาปริญญาเอกที่อาจารย์แอนท์เรียนอยู่ http://www.uni-goettingen.de/de/36726.html

Kleepradawan-Ern

กลีบรดาวัลย์ สืบสกุลเชื้อ (เอิ้น)

นิติศาสตร์บัณทิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อาชีพก่อนมาศึกษาต่อ ทนายความในสำนักงานกฎหมายเยอรมันในประเทศไทย
ที่ปรึกษากฎหมายด้านการลงทุน ณ หอการค้าไทย-เยอรมัน
กำลังศึกษา Master Deutsches Recht, Westfälische Wilhelms-Universität Münster

 

น้องเอิ้นสาวน้อยยิ้มง่ายของเรากระซิบให้ฟังว่าอยากมาเรียนต่อทางกฎหมายที่ประเทศเยอรมนีตั้งแต่วัยเด็ก เนื่องจากกฎหมายเอกชนทางแพ่งที่เรียนและใช้กันในประเทศไทยมีรากฐานจากประเทศเยอรมนี ประกอบกับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยแนะนำให้มาเรียนที่นี่เพราะมีชื่อเสียงมาตั้งแต่ในอดีต

การเรียนปริญญาโททางด้านกฎหมายที่ Westfälische Wilhelms-Universität Münster จะใช้เวลาเรียนประมาณหนึ่งปี โดยต้องยื่นผลสอบภาษาเยอรมัน TestDaF 4 หรือ DSH 2 ในการสมัครเข้าเรียน ซึ่งคอร์สที่น้องเอิ้นเรียนอยู่นั้น จะเปิดไว้ให้สำหรับนักศึกษาทั่วไปทั้งนักศึกษาต่างชาติและนักศึกษาชาวเยอรมันเองที่ไม่ได้เรียนจบปริญญาตรีด้านกฎหมายในประเทศเยอรมนี (เพื่อปูพื้นฐานอย่างจริงจัง) น้องเอิ้นยังแจงให้เราฟังว่าในชั้นเรียนของเธอมีนักศึกษาต่างชาติเช่นเดียวกัน มากที่สุดคือมาจากประเทศจีน ซึ่งคอร์สดังกล่าวจะต้องไปเรียนร่วมกับนักศึกษาปริญญาตรีด้วยเหตุผลที่น่าสนใจว่าจะสามารถทำให้นักศึกษาปริญญาโทรู้พื้นฐานการเรียนกฎหมายของชาวเยอรมัน รู้บรรยากาศและวิธีการสอนแบบปริญญาตรี สามารถเห็นความแตกต่างของเราและเขาได้อย่างชัดเจนทั้งในเรื่องของการเรียนและการคิด

น้องเอิ้นกล่าวว่าตัวเองคิดไม่ผิดที่มาเรียนที่นี่ เนื่องจากการเรียนที่นี่น่าสนใจมาก เช่น มี Seminararbeit ซึ่งเป็นการทำรายงานโดยนักศึกษาสามารถเลือกหัวข้อที่ตนสนใจจากที่อาจารย์มีให้  ทำสารบัญและมีผู้ช่วยของอาจารย์ ที่เรียกว่า Mitarbeiter/in คอยให้คำปรึกษา และสุดท้ายต้องบรรยายในกลุ่มเกี่ยวกับห้วข้อที่เราศึกษามาให้อาจารย์และนักศึกษาอื่นๆฟัง โดยก่อนสิ้นสุดการบรรยายจะมีการซักถามและถกเถียงปัญหาตามหัวข้อนั้นๆ นักศึกษาเลยมีโอกาสได้ทำวิจัยไปในตัว สามารถพัฒนาความคิด และคิดได้นอกกรอบ นอกจากนี้ยังมีการติวที่เรียกว่า Arbeitsgemeinschaft สำหรับวิชาพื้นฐาน โดยจะเรียนกันเป็นกลุ่มเล็กประมาณสิบกว่าคน (เนื่องจากในชั้นเรียนหลักจะมีนักศึกษาเกินสองร้อยคน) ใช้ภาษาเยอรมันคุยกันในชั้นเรียน มีผู้ช่วยของอาจารย์มาทบทวนบทเรียนแต่ละอาทิตย์ให้นักศึกษา ช่วยกันติวและคิดทำเคสต่างๆร่วมกัน และมีโอกาสทำงานในรูปแบบที่มหาวิทยาลัยในประเทศไทยไม่ค่อยปรากฏให้เห็น

โดยส่วนตัวเธอมีความสนใจกฎหมายด้านอนุญาโตตุลาการเป็นพิเศษเนื่องจากเรื่องดังกล่าวในประเทศไทยยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควรและยังต้องมีการพัฒนาและเรียนรู้ในอีกหลายด้านเพราะเป็นกฎหมายเรื่องที่สำคัญทางด้านเศรษฐกิจเช่นเดียวกับกฎหมายด้านอื่นๆ ซึ่งเธอคาดหวังที่จะศึกษาต่อปริญญาเอกเรื่องนี้ในอนาคต (อันใกล้นี้..) น้องเอิ้นเล่าให้เราฟังเพิ่มว่าตามปกติของการเรียนปริญญาโทกฎหมายที่ประเทศเยอรมนีจะไม่กำหนดให้ฝึกงาน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของตัวนักศึกษาเอง หากมีความสนใจ สามารถติดต่อเข้าไปในองค์กรต่างๆได้ (น้องเอิ้นแอบบอกกับทางเราว่า ค่อนข้างจะยาก เนื่องจากเราเป็นคนต่างชาติ แต่จงมีความพยายามอย่างเต็มที่)

น้องเอิ้นเองค่อนข้างแนะนำให้เพื่อนๆคนไทยมาเรียนกฎหมายที่ประเทศเยอรมนีโดยให้ข้อสังเกตว่าส่วนใหญ่นักศึกษากฎหมายบ้านเราจะตัดสินใจไปศึกษาต่อแถบสหรัฐอเมริกาหรือสหราชอาณาจักรเป็นส่วนมากอาจเพราะไม่ต้องใช้เวลานานกับการศึกษาภาษาที่สามเช่นภาษาในแถบยุโรปเพิ่มเติม หากแต่ในความเป็นจริงแล้ว ระบบกฎหมายของประเทศไทยยึดถือตามแบบของ Civil Law (ระบบประมวลกฎหมาย) ซึ่งใช้ในประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น หาใช่ Common Law (กฎหมายแบบจารีตประเพณี) เฉกเช่นสหรัฐอเมริกาหรือสหราชอาณาจักร ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การตีความกฎหมายบางด้านในเมืองไทยเกิดความสับสนอย่างที่พบเห็นกัน

ในเรื่องการปฏิสัมพันธ์กับนักศึกษาเจ้าบ้านชาวเยอรมัน น้องเอิ้นเห็นว่าค่อนข้างจะมีความสำคัญเนื่องจาก นักศึกษาชาวเยอรมันสามารถช่วยเหลือเราได้หากเราไม่เข้าใจในตัวบทกฎหมายหรือแม้กระทั่งเรื่องภาษา หากแต่เป็นเรื่องปกติที่นักศึกษาเยอรมันจะค่อนข้างปิดตัว (แม้แต่กับเพื่อนชาติเดียวกัน แนวว่าไม่สนิทไม่คุย) และไม่ค่อยเป็นฝ่ายที่จะเริ่มเปิดความสัมพันธ์ก่อน โดยเฉพาะกับเพื่อนนักศึกษาชาวต่างชาติสืบเนื่องจากที่เขาจะไม่เสนอตัวเข้าหาเราก่อนนั่นเอง อย่างไรก็ตามเธอแนะว่าสถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด เพราะถ้าเราเป็นฝ่ายเริ่มต้นก่อน เขาก็พร้อมที่จะเปิดรับเราเช่นกัน โดยน้องเอิ้นเปรียบการเข้าหาเพื่อนชาวเยอรมันว่าต้องมีความพยายามเล็กน้อย เพราะเหมือนน้ำหยดลงหิน ไม่นานหินก็กร่อน  และถ้าหากได้รู้จักกันแล้วชาวเยอรมันก็เป็นเพื่อนที่ดีได้ตราบนานเท่านาน (น้องเอิ้นแอบไปสืบจากเพื่อนชาวเยอรมันแล้วว่าจริงๆเขาก็อยากคุยกับนักศึกษาต่างชาติแต่เห็นทีไรก็มักจะอยู่กันเป็นกลุ่ม ขลุกกันอยู่แต่กับเพื่อนชาติเดียวกัน เขาเลยไม่กล้าเริ่มเข้ามา และนี่อาจจะเป็นข้อคิดที่ดีสำหรับนักเรียนชาวไทยก็เป็นได้..) แต่โดยปกติสังคมของนักศึกษาเยอรมันก็จะมีการเจอกันตามอัธยาศัยและมีการสังสรรค์ปาร์ตี้อยู่แล้ว นอกจากนั้นยังมีสมาคม (Verein) ต่างๆตามความสนใจของนักศึกษาอีกด้วย

ส่วนมหาวิทยาลัย เธอเองก็แนะนำให้มาเรียนที่ Münster อยู่ไม่น้อย เพราะเป็นเมืองเล็กที่เป็นเมืองมหาวิทยาลัย (น้องเอิ้นเน้นว่าบรรยากาศดีเหมาะกับการนั่งจิบกาแฟ..) ทั้งเมืองมีแต่นักศึกษา ผู้คนท้องถิ่นเป็นกันเอง ค่อนข้างเปิดรับนักศึกษาต่างชาติ อยู่สบายๆ คนส่วนใหญ่ขี่จักรยานทั่วเมือง  เพราะที่นี่เป็นเมืองหลวงแห่งจักรยานของเยอรมนี มีพื้นที่สีเขียวรายล้อมและมีทะเลสาบกลางเมือง ที่สำคัญคือมีกระต่ายกระโดดไปมาให้เห็นทั่วไปแม้ในยามหิมะเต็มเมือง ห้องสมุดดีมากกก.. (เน้นเสียง) เพราะเป็นที่สิงสถิตย์ของเธอไปเสียแล้ว.. (เธอกระซิบมาอีกที) มี semesterticket ที่สามารถเดินทางได้ไม่จำกัดในแคว้น Nordrhein-Westfalen ค่าเล่าเรียนไม่แพง คณาจารย์น่ารักกับคนต่างชาติถึงแม้จะมีข้อจำกัดในการใช้ภาษาก็ตาม

ก่อนจากกันน้องเอิ้นฝากให้กำลังใจกับผู้ที่คิดจะมาเรียนทางกฎหมายไม่ว่าในระดับใดๆในประเทศเยอรมนีว่า อยากให้มีความอดทน ไม่ย่อท้อ เพราะทราบกันดีว่ากฎหมายเป็นสาขาที่ยากที่หวังจะจบเร็วๆ อย่างไรก็ตามน้องเอิ้นบอกว่าตัวเองยึดหลัก slow but sure มาตลอด เหตุผลหนึ่งเนื่องจากต้องใช้ภาษาเยอรมันในการเรียนรู้ซึ่งบางครั้งก็ยากที่จะทำความเข้าใจในเวลาที่จำกัด แต่จะคุ้มค่ามากมายหากอยากเรียนรู้วิชาการทางกฎหมายจากพื้นฐานและทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ โดยน้องเอิ้นการันตีว่าถ้าจบมาแล้วจะเกิดความภูมิใจในตัวเองอย่างมหาศาลแน่นอน

หากใครสนใจที่จะศึกษาต่อทางกฎหมายที่มหาวิทยาลัยของน้องเอิ้น Westfälische Wilhelms-Universität Münster สามารถดูข้อมูลสาขาวิชาที่น้องเอิ้นเรียนอยู่ได้จาก

1.  http://www.jura.uni-muenster.de/index.cfm?objectId=881E104F-AF78-CACC-A58D71D3BE96870A และ

2.  http://www.jura.uni-muenster.de/go/studieren/studieninformationszentrum/master-deutsches-recht/zugangsvoraussetzungen.html

หรือข้อมูลสาขาวิชากฎหมายด้านอื่นๆของ Westfälische Wilhelms-Universität Münster ที่ http://www.uni-muenster-llm.de/

 

Sukan-Jeab

สุกัลย์ เขมวราภรณ์ (เจี๊ยบ)

นิติศาสตร์บัณทิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เนติบัณฑิตไทย
อาชีพก่อนมาศึกษาต่อ นิติกร กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม
กำลังศึกษา Masterstudiengang “Deutsches Recht für ausländische Studierende” (LL.M.), Universität Passau

 

น้องเจี๊ยบเป็นน้องสุดท้องในสามสาวที่เปิดโอกาสให้เรามาสัมภาษณ์ประสบการณ์การเรียนกฎหมายในประเทศเยอรมนี เธอเล่าว่าหลังจากที่ทำงานที่กรมบังคับคดีได้ระยะหนึ่ง ก็รู้สึกสนใจอยากมาศึกษากฎหมายเอกชนต่อที่ประเทศเยอรมนี จึงตัดสินใจสมัครทุน German-Southeast Asian Center of Excellence for Public Policy and Good Governance (CPG) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งทุนดังกล่าวได้รับการสนับสนุนมาจาก Deutschen Akademischen Austausch Dienst (DAAD) หรือชื่อภาษาอังกฤษ The German Academic Exchange Service อีกทอดหนึ่ง ทุนนี้เปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถเลือกเรียนกฎหมายได้จากสามมหาวิทยาลัยชื่อดังในประเทศเยอรมนี ได้แก่ Westfälische Wilhelms-Universität Münster, Goethe-Universität Frankfurt a.M. และ Universität Passau

เธออธิบายให้เราฟังว่าทุนซีพีจีนี้จะให้นักศึกษามาเรียนปริญญาโททางกฎหมายเป็นระยะเวลาหนึ่งปี สามเดือน (รวมเวลาเรียนภาษาเยอรมัน) โดยที่ Universität Passau ที่เธอเลือกเรียนนั้น กำหนดให้เรียนสองเทอม (ตุลาคม-มีนาคม และ เมษายน-กันยายน) ซึ่งนักศึกษาทั้งหมดจะต้องเรียนเป็นภาษาเยอรมัน สอบเข้าด้วยระดับ DSH 2 (ไม่มีการเรียนเป็นภาษาอังกฤษ) โดยถ้าหากยังไม่มีผลสอบภาษาเยอรมัน ทุนซีพีจีจะให้ทุนเรียนภาษาต่างหาก 1,000 ยูโรและเริ่มให้มาเรียนภาษาเยอรมันในเดือนสิงหาคมเพื่อสอบภาษาอย่างช้าที่สุดก่อนเข้าเรียนกฎหมายซึ่งเริ่มเดือนตุลาคมและในเทอมสุดท้ายจะกำหนดให้เขียนงานจบที่เรียกว่า Masterarbeit เป็นระยะเวลาสามเดือน

น้องเจี๊ยบกล่าวว่าตนเลือกเรียนกฎหมายเอกชนที่นี่เนื่องจากประเทศเยอรมนีเป็นต้นตำรับของกฎหมายดังกล่าว โดยคอร์สที่เธอเรียนอยู่นั้นเป็นคอร์สปริญญาโทที่เปิดให้สำหรับนักศึกษาต่างชาติโดยเฉพาะและสอนเป็นภาษาเยอรมัน ซึ่งที่ Universität Passau จะไม่มีชั้นเรียนเป็นของปริญญาโทเอง หากแต่นักศึกษาจะต้องเรียนร่วมกับนักศึกษาปริญญาตรีในห้องรวมใหญ่ เพื่อศึกษาระบบและการเรียนกฎหมายจากเบื้องต้นอย่างแท้จริงเช่นเดียวกับสองสาวที่เราสัมภาษณ์มา เธอได้ให้เคล็ดลับการเรียนกฎหมายกับเราว่าการเรียนกฎหมายที่นี่จะมีวิชาที่คล้ายคลึงกับประเทศไทยหากแต่มีวิธีคิดที่แตกต่างออกไป ซึ่งปกติการตอบข้อสอบกฎหมายในประเทศไทยจะมีสองรูปแบบ ได้แก่

1. การตอบแบบเป็นทนายความ (Gutachtenstil) จะตอบแบบละเอียดโดยมีการพิสูจน์องค์ประกอบ ให้นิยามและเหตุผลประกอบ

2. การตอบแบบเป็นผู้พิพากษา (Urteilstil) จะตอบแบบฟันธงลงไปเลย ไม่ต้องอธิบายมาก

แต่การตอบข้อสอบแบบนักศึกษากฎหมายเยอรมันจะต้องตอบแบบข้อที่หนึ่ง คือ ต้องตอบอย่างมีระบบ มีวิธีคิดที่เป็นขั้นตอน นอกจากนั้นการเรียนกฎหมายในประเทศยุโรป โดยเฉพาะเยอรมนีและฝรั่งเศสนั้น จะเหมาะสำหรับผู้ที่จะประกอบอาชีพเป็นอาจารย์หรืออาชีพที่ต้องการศึกษาระบบกฎหมายอย่างแท้จริง เนื่องจากการเรียนที่สอนแบบปูพื้นฐาน สอนระบบให้คิดและวิธีคิดอย่างเป็นระบบ เริ่มจากจุดเริ่มต้น มีที่มาที่ไป ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากการเรียนในเมืองไทย และจะเห็นได้ว่าระบบดังกล่าวเป็นประเด็นสำคัญที่จะเป็นฐานในการพัฒนาระบบกฎหมายในประเทศไทยได้อย่างแท้จริง

ก่อนจากกันน้องเจี๊ยบได้ให้ข้อสังเกตในการเรียนกฎหมายในเยอรมนีว่าข้อดีคือสามารถเลือกเรียนวิชาที่ตนเองสนใจได้ทั่วไป ในขณะที่การเรียนกฎหมายในสหรัฐอเมริกาหรือสหราชอาณาจักรจะต้องเลือกเฉพาะทางลงไปเลย

ส่วนตัวน้องเจี๊ยบค่อนข้างแนะนำให้มาเรียนที่ Universität Passau เนื่องจากเมืองนี้เป็นเมืองมหาวิทยาลัย มีทัศนียภาพที่สวย มีบรรยากาศการเรียนที่อบอุ่น โดยคณาจารย์ เพื่อนร่วมชั้น ตลอดทั้งคนท้องถิ่นในเมือง Passau ค่อนข้างเป็นมิตร อาจารย์ทางกฎหมายเก่งจริงและมีคุณภาพ โดยเฉพาะทางกฎหมายอาญา อีกทั้งยังมีห้องสมุดทางกฎหมายที่ดี มีหนังสือทั้งภาษาเยอรมันและภาษาอังกฤษ และที่สำคัญคือ International Office ทำงานรวดเร็ว สามารถตอบรับความยุ่งยากที่จะเกิดขึ้นของนักศึกษาต่างชาติได้ดี

หากใครสนใจที่จะศึกษาต่อทางกฎหมายที่มหาวิทยาลัยของน้องเจี๊ยบ Universität Passau สามารถดูข้อมูลสาขาวิชาที่น้องเจี๊ยบเรียนอยู่ได้จาก http://www.jura.uni-passau.de/359.html

Wissen ♯ เชื่อว่าหลายๆคนที่กำลังตัดสินใจจะมาเรียนต่อที่ประเทศเยอรมนี โดยเฉพาะวิชากฎหมาย ยังมีคำถามติดใจเรื่องการจัดลำดับมหาวิทยาลัย (University Ranking) ในประเทศนี้ เนื่องจากเรามักจะคุ้นเคยกับระบบการจัดลำดับมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ไม่ต้องเป็นห่วงอีกต่อไปค่ะ เพราะที่นี่มีคำตอบ จากการสัมภาษณ์นักศึกษาสาวทั้งสามท่าน ต่างก็ให้ความเห็นตรงกันว่าในปัจจุบันคณาจารย์ทางกฎหมายในประเทศเยอรมนีต่างก็หมุนเวียนไปตามมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วประเทศ ดังนั้นประเด็นหลักจึงอยู่ที่ว่าอาจารย์ที่เชี่ยวชาญหัวข้อสาขาวิชากฎหมายที่เราสนใจอยากเรียนหรือทำวิจัยนั้นๆ ประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยไหน เมืองอะไรมากกว่าค่ะ

โดยในปัจจุบันมหาวิทยาลัยในประเทศเยอรมนีเริ่มมีการเรียนการสอนกฎหมายแบบเรียนทางไกล สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก http://www.jurafernstudium.de/studiengaenge.php

ฟังสาวๆนักกฎหมายเล่าประสบการณ์ส่วนตัวกันซะเพลิน จนเกือบลืมว่าถึงเวลาที่เราต้องลาจากกันซะแล้ว (หมดหน้ากระดาษ..) โอกาสนี้ทางคอลัมน์ Wissen ♯ ต้องขอขอบพระคุณพี่แอนท์ น้องเอิ้นและน้องเจี๊ยบ (แบบออกสื่อ) อีกหลายๆครั้งเลยนะค่ะ

หากพี่น้องสมาชิกนิตยสาร TSVD Magazine ท่านใดสนใจอยากให้เราทำสกู๊ปสาขาวิชาไหนหรือสัมภาษณ์นักศึกษาคนใดเป็นพิเศษ สามารถแนะนำเข้ามาได้นะค่ะ ทาง Wissen ♯ จะไปตามล่าหาข้อมูลมาให้ เพราะเราเชื่อมั่นว่า “ประสบการณ์คือหนังสือแนะแนวที่ล้ำค่า” จริงๆค่ะ..

“รู้ไว้ ใช่ว่า” กับ Wissen ♯: ชาวเยอรมันจะเรียกอาจารย์ที่ปรึกษาว่า “โปรเฟซเซอร์” หรือสั้นๆว่า “โปร” (Professor) ในขณะที่สหรัฐอเมริกาหรือประเทศอื่นๆจะเรียกว่า “แอดไวเซอร์” (Advisor)

นิตยสารฉบับเต็ม สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่ค่ะ: TSVD Magazine

 

Leave a Reply