ประสบการณ์ตรงจากนักเรียนทุน Erasmus Mundus ปี 2549/2550 ภาค 2

เมื่อคราวที่แล้ว “แจน” หรือ “พรรณพร อัชวรานนท์” ได้แนะนำเกี่ยวกับการเตรียมตัวและระบบการศึกษาของนักศึกษาทุน Erasmus Mundus แล้ว มาภาคนี้จะขอเล่าเรื่องทั่วๆไปของชีวิตเด็กนักศึกษาทุน Erasmus Mundus ในยุโรปนะค่ะ
….

ชีวิตความเป็นอยู่ของนักศึกษาทุน Erasmus Mundus ในยุโรป

เงินทุนและการหารายได้พิเศษ

 

นักศึกษาทุน Erasmus Mundus จะได้รับเงินทุน 1,600 ยูโร ต่อเดือน (เป็นอัตราของปี 2549/2550) แต่ภายหลังมีการปรับเพิ่มและลดตามแต่ละสาขาวิชาและประเทศที่นักศึกษาทุนจะไปเรียน เงินจำนวนดังกล่าวมหาวิทยาลัยต้นสังกัดจะส่งให้แต่ละมหาวิทยาลัยที่เป็น Home University ดังนั้นนักศึกษาจะเริ่มต้นได้ทุนจากเดือนแรกที่มีการลงทะเบียนเรียน นักศึกษาทุน Erasmus Mundus จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสำรองค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งไปก่อนเช่น ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าที่พัก และ ค่ากินอยู่ในระยะอาทิตย์แรกๆที่เดินทางไป ถ้าถามประสบการณ์ส่วนตัวแล้วจำนวนเงินทุนดังกล่าว เป็นจำนวนที่มากเปรียบเทียบกับนักศึกษาทุนทั่วไป เมื่อนำมาบวกลบคูณหารกับค่าใช้จ่ายจริงแล้ว สามารถกินอยู่ในชีวิตประจำวันตามปกติโดยไม่ต้องไปทำงานหารายได้พิเศษเพิ่มเติม แต่คำถามที่นักศึกษาถามกันมาบ่อยที่สุดคือเรื่องการหารายได้พิเศษระหว่างเรียน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับนักศึกษาทุนแต่ละคนที่ถ้าอยากไปหาประสบการณ์เพิ่มก็สามารถทำได้ แต่อาจไม่เป็นการสะดวกเพราะต้องเดินทางเปลี่ยนประเทศในการเรียนไปเรื่อยๆ ประกอบกับการหารายได้พิเศษในบางประเทศนั้นจะต้องมีบัตรประจำตัวต่างหากจากวีซ่าในหนังสือเดินทาง ซึ่งถ้านักศึกษาอยู่แค่ไม่กี่เดือนเป็นระยะสั้นในแต่ละประเทศ ก็จะไม่มีสิทธิทำบัตรดังกล่าว

การย้ายประเทศในยุโรปตามแผนการศึกษา

จากประสบการณ์ส่วนตัวของดิฉัน อยากบอกว่าทุน Erasmus Mundus เป็นโอกาสการศึกษาที่ดี ที่เอื้อให้นักศีกษาได้มีโอกาสเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมยุโรป ทั้งบ้านเมือง ชีวิตความเป็นอยู่ ความคิดอ่านของคนยุโรปควบคู่กับการเรียนปริญญาโทในสาขาที่ตนเองสนใจ เพราะแต่ละสาขาวิชา ต้องไปเรียนที่ประเทศต่างๆอย่างน้อย 2 ประเทศ นักศึกษาส่วนใหญ่อาจมีความตื่นเต้นก่อนที่จะไปเรียนเพราะนึกสนุกที่จะย้ายไปมาเสมือนได้มาทัวร์ยุโรป ดังเช่นที่ดิฉันได้ประสบพบเหตุการณ์มาแล้ว แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน ที่อาจจะชอบและไม่ชอบ

ดังนั้นนักศึกษาที่ได้ทุนแล้วต้องย้ายไปมา ขอให้พึงระวังเรื่องสิ่งของเครื่องใช้ที่ต้องย้ายไปมาด้วยเพราะคงไม่สนุกแน่ หากจะต้องแบกสัมภาระที่มักจะมีเพิ่มเติมไปเรื่อยๆตามแต่ละประเทศที่ย้ายไปด้วย

ค่าครองชีพในเยอรมนีและสวีเดน

 

จากประสบการณ์แล้วเมื่อเปรียบเทียบสองประเทศนี้ สวีเดนชนะขาดเลยค่ะ ค่าครองชีพในประเทศนี้สูงมาก เนื่องด้วยเป็นหนึ่งในประเทศสแกนดิเนเวียที่ปกติก็มีมาตรฐานคุณภาพชีวิตสูง และมีระบบที่ดี โดยที่สวีเดนจะใช้อัตราเงินเป็น “สวีดิชโครน” (สวีเดนเป็นประเทศสหภาพยุโรปที่ไม่ได้ใช้เงินยูโร) โดย 1 สวีดิชโครน ประมาณ 5 บาท (ปี 2555) ในขณะที่ประเทศเยอรมนี จะมีค่าครองชีพที่ต่ำกว่าในสวีเดน อัตราเงินเป็น “ยูโร” โดย 1 ยูโร จะเทียบได้ประมาณ 40 บาท (ปี 2555) แต่ถ้าเปรียบเทียบกับเมืองไทย ยังไงทั้งสองประเทศนี้ก็ถือว่ามีค่าครองชีพที่สูงกว่ามากๆค่ะ ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากค่าภาษีที่แพงมากโดยเฉพาะประเทศสวีเดน ยกตัวอย่างเช่น ในเยอรมนียาสีฟันหลอดขนาดเล็กจะราคาประมาณ 1 ยูโร แต่ในสวีเดนจะประมาณ 20 สวีดิชโครน (ทั้งที่เป็นยี่ห้อเดียวกัน) นอกจากนั้นเมื่อเทียบจากค่าหอพักทั้งสองประเทศแล้ว จะพบว่าในสวีเดนจะมีอัตราที่สูงกว่า ทั้งนี้ราคาอาจเปลี่ยนไปตามค่าครองชีพในแต่ละเมืองและสภาพความเก่าใหม่ของหอพัก ด้วยเหตุที่ค่าครองชีพสูงขนาดนี้ จึงเป็นเรื่องปกติที่จะเห็นทั้งนักศึกษาไทย นักศึกษาต่างชาติหรือแม้กระทั้งนักศึกษาสวีดิชเอง ทำข้าวกล่องหรือห่อแซนวิชมารับประทานกันเอง โดยจะมีเครื่องอบไมโครเวฟจัดไว้ตามมุมต่างๆในมหาวิทยาลัย พูดถึงเครื่องไมโครเวฟแล้ว เป็นเรื่องน่าขันเพราะแม้กระทั่งใน ร้าน McDonald เองก็มีเครื่องไมโครเวฟจัดไว้ให้ลูกค้าเช่นเดียวกัน ส่วนที่ประเทศเยอรมนีนั้น นักศึกษาส่วนใหญ่จะนิยมรับประทานอาหารเที่ยงและเย็นที่โรงอาหาร ซึ่งเรียกว่า Mensa (เมนซ่า) เพราะอาหารในนี้จะถูกกว่ารับประทานข้างนอกมาก อย่างต่ำสุดก็มื้อละหนึ่งยูโรกว่าๆเท่านั้น นักศึกษาทั่วไปจึงเลือกที่จะมารับประทานที่โรงอาหารมากกว่าประกอบอาหารทานเองที่บ้าน

 

อัธยาศัยของผู้คนท้องถิ่นในแต่ละเมือง

 

ลักษณะนิสัยของชาวเยอรมัน

 

ชาวเยอรมันมีลักษณะนิสัยแตกต่างไปตามแต่และแคว้น โดยความแตกต่างดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่ชาวเยอรมันเองก็ยอมรับกันเองเป็นปกติ ชาวเยอรมันโดยเฉพาะผู้ที่มีอายุจะเป็นคนที่คุยด้วยง่ายและมักเป็นผู้เริ่มต้นการสนทนา ไม่ว่าบนรถเมล์ รถไฟ หรือตามข้างถนนก็ตาม โดยมักจะพูดเสียงดัง เฮฮา และมีความมั่นใจสูง เวลาพบปะเจอกันในเวลาทั่วๆไป มักจะทักทายว่า “Hallo!!” สังคมของชาวเยอรมันถ้าเป็นในเมืองใหญ่ อาทิ แฟรงเฟิร์ต โคโลญจน์ มิวนิค เบอร์ลิน เป็นต้น ก็จะเป็นสังคมคนทำงานที่ผู้คนจะพูดภาษาอังกฤษได้มากกว่าเมืองอื่น ยิ่งในฮัมบูร์ก ก็จะเป็นสังคมที่มีความหลากหลายและเป็นต่างชาติค่อนข้างสูง แต่ถ้าในเมืองอื่นๆ เล็กๆ ก็จะเป็นสังคมที่เรียบง่ายและมีชีวิตชีวาในแบบอนุรักษ์นิยมของเยอรมัน จึงจะสังเกตได้ว่าชาวเยอรมันจะแต่งตัวง่ายๆ ด้วยเสื้อผ้าแบบธรรมดา ไม่ได้ยึดติดกับแฟชั่นเหมือนประเทศยุโรปอื่นๆที่มีตามท้องตลาด ซึ่งเคยมีคนเปรียบเทียบกับชาวยุโรปประเทศอื่นๆ ว่าแฟชั่นการแต่งกายของชาวเยอรมันจะเป็นแบบเรียบๆไปจนถึงเชยเสียก็ว่าได้

ระบบ Neo-Nazi ในปัจจุบันและปัญหาการเหยียดผิวชาวต่างชาติในเยอรมนี

เนื่องจากเยอรมนีเป็นประเทศที่มีปัญหาเรื่องการเหยียดเชื้อชาติมาก่อนในสงครามโลกครั้งที่สอง ชาวต่างชาติที่ไม่ใช่ชาวยุโรปจึงมักกังวลเกี่ยวกับการเดินทางไปประเทศเยอรมนี โดยเฉพาะนักศึกษาที่จะไปเรียนในประเทศนี้ จริงๆแล้ว นับจากสงครามโลกครั้งที่สองผ่านไป ทางการเยอรมันมีความพยายามที่จะสกัดกั้นความคิดและการรวมตัวกันของพวกนาซี ไว้จนกระทั่งทุกวันนี้ ซึ่งในปัจจุบันยังคงปรากฎให้เห็นอยู่บ้างตามเมืองทางเยอรมันตะวันออกและแพร่หลายไปยังประเทศอื่นๆ หากแต่มุ่งเป้าหมายไปที่ชาวต่างชาติซึ่งเป็นแขกตุรกีเสียมากกว่าชาติอื่นๆ (แขกตุรกีเป็นชนชาติที่อพยพเข้ามาอยู่ในเยอรมนีมากที่สุด)

คำถามที่นักศึกษามักถามกันประจำคือคนเยอรมันจะเหยียดเชื้อชาติชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวเอเชียหรือไม่ คำตอบคือ ขึ้นอยู่กับโอกาสที่จะเจอคนเยอรมันที่มีนิสัยเช่นนั้นหรือไม่ ซึ่งอาจจะเป็นผู้คนส่วนน้อยประมาณ 1% โดยอาจไม่ได้แสดงออกโดยตรงด้วยการเข้ามาทำร้าย หากแต่อาจแสดงออกด้วยท่าทางและคำพูด แต่ขอย้ำตรงนี้ว่ามีจำนวนที่น้อยมากและในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นผู้ใหญ่ หรือเด็กรุ่นใหม่ ต่างก็มีอัธยาศัยที่ดีกับชาวต่างชาติ ดังจะเห็นได้จากการยิ้มทักทายก่อนตามสถานที่สาธารณะทั่วๆไป นอกจากนี้ในปัจจุบัน ชาวเยอรมันมีนิสัยเปิดกว้างมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ นักศึกษาไทยจึงมักไม่มีปัญหาดังกล่าว

ลักษณะนิสัยของชาวสวีเดน

ชาวสวีเดนจะเป็นคนที่เงียบๆ รักสันโดษ ดูภายนอกแล้ว ถ้าเราไม่ทักเขาก่อนหรือเริ่มก่อน คงจะได้แต่ยิ้มและส่งเสียงทักทายว่า “Hej!” ทุกครั้งที่เดินสวนกัน (เป็นคำทักทายของชาวสวีดิช ที่ออกเสียงเหมือน Hey ในภาษาอังกฤษ) แต่ในความต่างคนต่างอยู่ของชาวสวีดิชนี้ยังคงแฝงไปด้วยความเอื้ออาทรและเป็นมิตร หากแต่ไม่แสดงออกเท่านั้น จริงๆแล้วเมื่อเปรียบเทียบกับชาวยุโรปทั่วไป คนสวีดิชมีนิสัยคล้ายคนไทย ออกไปทาง easy going จนบ้างครั้งไปในแนวทางที่เรื่อยๆกับชีวิตก็มี นี่คืออีกเหตุผลหนึ่งที่ชาวสวีดิชชอบมาเที่ยวและอพยพมาอยู่ในประเทศไทย อีกอย่างที่อยากเล่าไว้ด้วยความภูมิใจในประเทศไทยของเราคือ ชาวสวีดิชจะมีทัศนคติที่ดีกับชาวไทยเมื่อเทียบกับชาวยุโรปอื่นๆ โดยจากประสบการณ์การพูดคุยในครั้งแรกกับชาวสวีดิชส่วนใหญ่ เพราะเขาจะให้ความสนใจกับคนไทยเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชียอื่นๆ นอกจากนั้นตามร้านแลกเงินในสวีเดนทั่วไปก็จะมีอัตราการแลกเปลี่ยนของเงินบาทไทย แสดงควบคู่กับอัตราเงินของประเทศใหญ่อื่นๆ อาทิ US Dollar อีกด้วย พูดถึงเรื่องเครื่องดื่ม เนื่องจากอยู่ในแถบที่หนาวเย็น การดื่มแอลกอฮอลล์ เพื่อทำให้ร่างกายอบอุ่นจึงเป็นเรื่องปกติของชาวสวีดิช ซึ่งสามารถดื่มเครื่องดื่มดังกล่าวตั้งแต่เช้าจดกลางคืนเป็นเรื่องปกติ โดยจะดื่มในปริมาณมากกว่าประเทศอื่นๆในยุโรป (ไม่รวมประเทศสแกนดิเนเวียอื่นๆที่ดื่มในปริมาณมากเช่นเดียวกัน) ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจถ้าหากเพื่อนสวีดิชดื่มได้มากกว่าคนปกติทั่วไป

 

อาหารประจำชาติ

เมื่อกล่าวถึงเยอรมนี คงอดไม่ได้ที่จะพูดถึงเบียร์ (Bier) และไส้กรอก (Wurst) เบียร์กับชาวเยอรมันเป็นของที่คู่กันมาแต่โบราณ โดยคนเยอรมันสามารถดื่มเบียร์ได้ในทุกโอกาส แล้วเบียร์ของที่เยอรมันก็จะมีรสชาติหลากหลายไปตามแต่ละเมืองและแคว้นต่างๆให้ลองชิม ไส้กรอกก็เช่นเดียวกัน โดยไส้กรอกในแต่ละแคว้นก็จะมีรสชาติและส่วนผสมที่แตกต่างกัน อาหารง่ายๆในแต่ละมื้อของชาวเยอรมันจึงมักมีไส้กรอกเป็นส่วนผสมอยู่ด้วย

 

สำหรับสวีเดน ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศสแกนดิเนเวีย ผลิตภัณฑ์ปลาแฮร์ริ่งในน้ำซอสต่างๆถือเป็นอาหารที่จำเป็นในครัวของชาวสวีดิช นอกจากนั่น ลูกชิ้นเนื้อ (Köttbullar) ก็เป็นอีกอาหารซึ่งชาวสวีดิช กินกันทั่วไป โดยสามารถนำมาประกอบเป็นอาหารต่างๆได้ในครัวเรือน ซึ่งมีวางขายในร้าน IKEA ในประเทศต่างๆด้วย

 

ภาษาต่างประเทศที่สอง (ภาษาเยอรมันและสวีดิช)

คำถามที่ถามกันมากในเรื่องของทุน Erasmus Mundus คือเรื่องภาษา เนื่องจากนักศึกษาไทยหลายคนมักกังวลกับภาษายุโรป ซึ่งเป็นภาษาที่สองที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ ว่าจำเป็นที่จะต้องมีความรู้เรื่องภาษาอื่นๆมาก่อนหรือไม่ คำตอบคือ ถ้ามีความรู้มาก่อนก็จะช่วยมาก ในเรื่องของการปรับตัวและการดำเนินชีวิตประจำวัน แต่ในด้านการเรียน ส่วนใหญ่แล้วสาขาวิชาต่างๆ มักจะเรียนเป็นภาษาอังกฤษ ทั้งนี้ทั้งนั้น ขอให้นักศึกษาที่สนใจในแต่ละสาขาวิชาตรวจสอบกฎระเบียบของแต่ละมหาวิทยาลัย เพราะบางมหาวิทยาลัยในแต่ละประเทศอาจจะมีความต้องการนักศึกษาที่มีความรู้ในภาษาประเทศนั้นๆ แตกต่างกันไป

 

: ภาษาเยอรมัน เป็นภาษาที่มีรากเดียวกับภาษาอังกฤษ คำบางคำจึงมีความเหมือนกับภาษาอังกฤษอยู่มาก หากแต่อ่านออกเสียงต่างกันเท่านั้น นอกจากลักษณะนิสัยที่แตกต่างไปในแต่ละแคว้น สำเนียงของภาษาเยอรมันในแต่ละแคว้นก็แตกต่างกันตามไปด้วย คนเยอรมันส่วนใหญ่จะพูดภาษาเยอรมันกับชาวต่างชาติเสมอ โดยเฉพาะในเมืองกลางๆ ค่อนไปทางเล็ก คนเยอรมันโดยเฉพาะคนรุ่นกลางคนไปถึงเก่าจะไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้เลย ดังนั้น ถ้านักศึกษาสนใจอยากมาเรียนที่ประเทศเยอรมนี ก็ขอแนะนำให้มีพื้นฐานภาษาเยอรมันสักนิดเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันได้

: ภาษาสวีดิช เป็นอีกภาษาที่น่าสนใจ โดยมีส่วนคล้ายกับภาษาเยอรมันอยู่มาก หากแต่ว่าส่วนใหญ่แล้วชาวสวีดิชสามารถพูดภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี แม้กระทั่งเด็กๆและผู้ที่มีอายุแล้วก็ตาม หากแต่ในชีวิตประจำวันของชาวสวีดิชก็ติดต่อสื่อสารกันเป็นภาษาสวีดิชอยู่แล้ว แต่ละคนจึงเป็นเหมือน Bilingual เมื่อเราทักเป็นภาษาอะไร (ภาษาสวีดิชหรือภาษาอังกฤษ) เขาก็จะสามารถตอบภาษานั้นได้ทันที นักศึกษาที่สนใจมาเรียนที่สวีเดนจึงไม่ค่อยประสบปัญหาในเรื่องของภาษามาก เท่าประเทศอื่นๆ

เมื่อพูดถึงภาษาทั้งสองภาษา ผู้คนทั้งสองประเทศนี้ เมื่อเห็นชาวต่างชาติ โดยเฉพาะนักเรียน เขาจะพูดภาษาเยอรมันหรือสวีดิชกับเราก่อนเสมอ โดยคาดหวังว่าเราจะพูดภาษานั้นๆได้ (โดยเฉพาะในประเทศเยอรมนี) นี่จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ฝึกภาษาต่างประเทศที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษกับเจ้าของภาษา อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องกลัวนะคะ ถึงเราพูดไม่ได้หรือไม่เข้าใจ แต่ถ้าเรามีความพยายามที่จะสื่อสารกับเขาไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาประ เทศนั้นๆ ชาวเยอรมันและสวีดิชก็มักจะพยายามช่วยนักศึกษาต่างชาติอย่างเราๆอยู่แล้วค่ะ

อะไรที่ควรทำและไม่ควรทำ

 

ในเยอรมนี วัฒนธรรมการซื้อของฝากสำหรับชาวเยอรมันถือเป็นของแปลกและชาวเยอรมันจะไม่ค่อยกระทำกัน ถ้าไม่ได้ไปทำอะไรที่ต้องตอบแทนกัน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันคนไทยแล้ว การซื้อของฝากเป็นเรื่องปกติของชาวไทยที่เมื่อไปไหนมาไหนมักจะมีการซื้อของฝากให้กัน แต่สำหรับที่นี่ ถ้าเราเอาของไปให้ใคร บุคคลนั้นจะคิดว่าเราต้องการสิ่งของตอบแทน จึงไม่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง

ในสวีเดน คนสวีดิชมักจะถอดรองเท้าก่อนเข้าบ้าน (ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ค่อนข้างแตกต่างกับชาวตะวันตกประเทศอื่นๆ) นอกจากนั้นคนสวีดิชจะรักความเป็นส่วนตัว (Individualist) ค่อนข้างสูง แขกหรือแม้เป็นคนรู้จัก ไม่ควรที่จะเดินเข้าบ้านหรือห้องส่วนตัว ถ้าไม่ได้รับการเชิญหรืออนุญาตมาก่อนซึ่งจะแตกต่างจากนิสัยของชาวต่างประเทศอื่นๆ หรือแม้กระทั่งการถามเรื่องส่วนตัวมากๆโดยแม้ว่าจะสนิทหรือยังไม่สนิทนั้น ก็สามารถทำให้คนสวีดิชลำบากใจได้ นอกจากนั้นด้วยความที่ชีวิตประจำวันของชาวสวีดิชจะเป็นแนวสบายๆ สิ่งนี้เลยตกทอดมาถึงเรื่องการทำงานด้วย โดยชาวสวีดิชจะทำงานแบบสบายๆไม่ชอบการเร่งรัด ทำให้ในบางครั้งการที่มีคนไปเร่งหรือบังคับมาก อาจเป็นเสมือนการไปก้าวก่ายหน้าที่การงานก็เป็นได้นอกจากนั้นด้วยวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ชาวสวีดิชที่รักสันโดษมักจะชอบอยู่กับครอบครัวหรือคนรู้จักไม่กี่คน ต่างกับวัฒนธรรมไทยที่มักอยู่กันเป็นสังคมแบบกลุ่มเพื่อนๆคนรู้จักและแบบ ครอบครัวขยาย จึงอาจทำให้มีปัญหาในการปรับตัวระหว่างเพื่อนชาวสวีดิชได้ นอกจากนั้น ระบบความเชื่อถือ (Trust) ในสวีเดนเป็นระบบที่ค่อนข้างแข็ง ดังนั้น การจ่ายค่าธรรมเนียมต่างๆ เช่น ค่ารถ ค่าที่จอดรถ หรือ แม้กระทั่งการปฏิบัติตนตามกฎจราจรจึงเป็นสิ่งที่ควรถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในประเทศสวีเดน

ประกันสุขภาพในยุโรป

โดยปกติแล้ว นักศึกษาที่ไปเรียนในยุโรปจะต้องทำประกันสุขภาพด้วย เนื่องจากว่าค่ารักษาพยาบาลในยุโรปจะมีราคาที่สูงมากและนักศึกษาอาจไม่สามารถจ่ายได้หากมีเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น แต่ละประเทศจึงกำหนดให้นักศึกษาต้องทำประกันสุขภาพในช่วงระยะเวลาที่เรียนอยู่ในยุโรป สำหรับนักศึกษาทุน Erasmus Mundus นั้น หลังจากที่ทางคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ตอบรับการให้ทุนแล้ว ก็จะดำเนินการส่งรายชื่อนักศึกษาทุนทั้งหมดไปทำประกันสุขภาพ แล้วจะจัดส่งไปให้แต่ละมหาวิทยาลัย ให้จัดส่งแก่นักศึกษาทุนต่อไป ซึ่งประกันสุขภาพนี้ ตอนนักศึกษาไปขอวีซ่าให้นำหลักฐานนี้ไปยื่นขอวีซ่าด้วย ประกันสุขภาพจากทุน Erasmus Mundus จะครอบคลุมตั้งแต่วันที่นักศึกษาเดินทางออกนอกประเทศของตน จนกระทั่งสามเดือนหลังจากที่จบการศึกษา โดยในระหว่างนี้ หากนักศึกษาทุนมีปัญหาเรื่องสุขภาพ สามารถเข้าไปรับการรักษาได้ที่คลีนิกหรือโรงพยาบาลทั่วไป หากแต่ต้องสำรองค่ารักษาไปก่อน แล้วหลังจากนั้นจะต้องส่งแบบฟอร์มขอเงินค่ารักษาคืนในภายหลัง ซึ่งทางบริษัทประกันก็จะทำการโอนเงินคืนให้เข้าบัญชีธนาคารที่นักศึกษารับเงินทุนในแต่ละเดือน

ที่พักอาศัย

 

ที่พักอาศัยในเยอรมนี

ในเยอรมนี จะมีหอพักนักศึกษา เรียกว่า Studentenwohnheim หรือ WG (ภาษาเยอรมันอ่านว่า เวเก) ซึ่งจะมีราคาถูกกว่าที่พักอาศัยทั่วๆไป โดยจะมีราคาอยู่ที่ 150 – 300 ยูโรขึ้นไปต่อเดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับย่านที่พักอาศัย/ค่าครองชีพในแต่ละเมืองและลักษณะของห้องพัก ห้องพักลักษณะนี้เหมาะสำหรับนักศึกษาที่ต้องการฝึกภาษากับเจ้าของภาษา เนื่องจากจะอยู่รวมกันกับเพื่อนชาวต่างชาติ โดยอาจจะมีการใช้ห้องน้ำและห้องครัวร่วมกัน จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักศึกษาที่จะได้ฝึกใช้ภาษาเยอรมันและภาษาอื่นๆ กับเพื่อนชาวต่างชาติ แต่สำหรับนักศึกษาที่ประสงค์จะพักเดี่ยว ก็สามารถหาห้องส่วนตัวที่ไม่จำเป็นต้องไปใช้ห้องน้ำและห้องครัวร่วมกับคนอื่น แต่ค่าเช่าก็อาจจะสูงขึ้นมานิด

 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจในการหาห้องพักในเยอรมนีตามแต่ละเมือง ได้แก่

 
www.wg-gesucht.de
www.studenten-wg.de
www.wohnung-jetzt.de
www.studenten-wohnung.de
ส่วนใหญ่สำหรับนักเรียนทุน Erasmus Mundus ที่มาเยอรมนีนั้น มักจะต้องหาที่พักอาศัยเอง โดยมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะไม่ได้ช่วยดูแลในเรื่องที่พักอาศัย ยิ่งถ้าใช้บริการของบริษัทหาบ้านเช่า ก็ขอให้พึงระวังเรื่องของการเซ็นสัญญาเพราะโดยปกติแล้วการเช่าบ้านที่เยอรมนีจะมีรายละเอียดที่ซับซ้อน โดยเฉพาะเนื้อหาของสัญญา จึงขอแนะนำให้ศึกษารายละเอียดของสัญญาการเช่าห้องให้ดีเสียก่อน

ที่พักอาศัยในสวีเดน

ในสวีเดน โดยเฉพาะที่เมือง Uppsala ที่ตนเองเคยไปศึกษานั้น จะมีหอพักนักศึกษาหลายประเภททั้งแบบเป็นส่วนตัวและใช้ห้องน้ำและห้องครัวร่วมกับเพื่อนนักศึกษาคนอื่นๆ สำหรับ Uppsala Universitet ทางมหาวิทยาลัยจะดูแลเรื่องการหาห้องพักให้ โดยผู้ประสานงานจะส่งรายละเอียดของที่พักอาศัยมาให้นักศึกษาเลือกแล้วทำการจองต่อไป ราคาของห้องพักก็ขึ้นอยู่กับความเก่าใหม่ของห้องบริเวณที่พักอาศัย ฯลฯ โดยจะมีราคาประมาณ 2000- 4000 สวีดิชโครนต่อเดือน เนื่องด้วยสวีเดนมีระบบความเชื่อใจ (trust) สูงอย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ระบบการทำสัญญาบ้านเช่าจึงไม่ยุ่งยากเท่าที่ควร

เว็บไซต์ที่น่าสนใจในการหาห้องพักในสวีเดนตามแต่ละเมือง ได้แก่

www.studyinsweden.se

 

เว็บไซต์ที่น่าสนใจในการหาห้องพักในเมือง Uppsala ได้แก่

www.studentstaden.se

 

ประสบการณ์ต่างๆเหล่านี้ หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจจะสมัครทุน Erasmus Mundus และนักศึกษาที่สนใจจะไปเรียนต่อที่ยุโรปไม่มากก็น้อย ถ้าสนใจเรื่องเกี่ยวกับการเรียนในยุโรปเพิ่ม ก็สามารถติดต่อสอบถามได้ค่ะ ขอให้ทุกคนโชคดีนะคะ

Leave a Reply