สุดยอดเทศกาลรื่นเริงแดนอินทรีเหล็ก… Bierfest

Bierfest!!

เรื่องและเรียบเรียง: พรรณพร อัชวรานนท์

ภาพ: กรกฎ ฉัตรชมชื่น, สุเมธ ขันแก้วผาบ, กฤษฎา ขันทะชา, พชร แก่นเมือง และ ธนะ คำรณฤทธิศร

จากคอลัมน์ “Terminal DE” (TSVD: opnmnd Magazine #2 เบียร์)


Bierfest!!

เมื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ชาวเยอรมันหลายๆ คนมักจะเฝ้ารอเทศกาลหนึ่งมาเยือนอย่างใจจดใจจ่อ งานนั้นจะเป็นอะไรไปมิได้ หากไม่ใช่ “เทศกาลเบียร์” อันเลื่องชื่อ ที่หาได้จำกัดความดังอยู่แค่ในประเทศเยอรมนีเท่านั้นไม่ ว่ากันว่างานดังกล่าว โดยเฉพาะออคโทเบอร์เฟสท์ (Oktoberfest) ณ เมืองมึนเช่น (München) ที่จัดกันมากว่าสองร้อยปีและยังคงเฉลิมฉลองกันอยู่จนทุกวันนี้ ยังเป็นต้นแบบเทศกาลเบียร์แรกๆ ของโลกอีกด้วย ซึ่งเทศกาลเบียร์ส่วนใหญ่ที่ว่านี้ จะมีรูปแบบเป็น Volksfest (Folk Festival) คือ งานรื่นเริงสำหรับประชาชนทั่วไป ที่ไม่ต้องเสียค่าเข้างานใดๆ

 

รู้ไว้ใช่ว่า: เทศกาลเบียร์เกิดขึ้นได้อย่างไร?

ย้อนไปตั้งแต่สมัยคริสตศตวรรษที่ 15-16 เมื่อครั้งที่ยังไม่มีใครคิดค้นห้องหรือระบบกักเก็บความเย็นในอดีต ประกอบกับพื้นที่ที่มีจำกัด ชาวบ้านจึงต้องพยายามกำจัดเบียร์ที่ผลิตไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว เพื่อให้มีพื้นที่เพียงพอที่จะเก็บกักเบียร์ที่จะผลิตขึ้นมาใหม่ในปีนั้นๆ ซึ่งปกติชาวบ้านจะเริ่มหมักเบียร์หลังจากฤดูเก็บเกี่ยวสิ้นสุดลง (ประมาณหลังงานออคโทเบอร์เฟสท์) และจะเกิดกรรมวิธีหมักเบียร์กันไปจนถึงเดือนมีนาคม ชาวบ้านเลยถือโอกาสดีอันนี้ จัดงานเทศกาลวาระดื่มเบียร์ (ให้หมด) แห่งชาติ ซึ่งก็เสมือนเป็นการเฉลิมฉลองการสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยวไปในตัวอีกด้วย โดยงานนี้มักจะเกิดขึ้นในช่วงระหว่างวันเสาร์สุดท้ายของเดือนกันยายน จนถึงวันอาทิตย์แรกของเดือนตุลาคม และเริ่มมีเทศกาลเบียร์อย่างเป็นทางการในประเทศเยอรมนีเมื่อ ค.ศ. 1810 นั่นก็คือ งานออคโทเบอร์เฟสท์ที่เลื่องชื่อนั่นเอง

เกริ่นกันมาขนาดนี้แล้ว เดี๋ยวผู้อ่านจะอดใจไม่ไหว… Terminal DE จึงขออาสารวบรวมเทศกาลเบียร์ ซึ่งประกอบไปด้วยงานออกร้านและเครื่องเล่นที่ขึ้นชื่อที่สุดสามแห่งในประเทศเยอรมนี ให้ผู้อ่านได้รื่นเริงบันเทิงใจไปพร้อมๆ กับชาวเยอรมัน และเพื่อให้เราได้เห็นภาพสมจริง ทั้งสามารถดื่มด่ำกับรสชาติแท้ๆ ไปด้วยในแต่ละงาน เราจึงขอให้นักศึกษาไทยในแต่ละเมือง เล่าประวัติความเป็นมาของเทศกาลเบียร์ต่างๆ รวมทั้งประสบการณ์ส่วนตัวที่มีโอกาสได้ไปสัมผัสมาด้วยตนเอง จะสนุกสนานสมคำร่ำลือแค่ไหน… เราไปฟังเจ้าบ้านเล่าสู่กันฟังดีกว่าค่ะ

 

Oktoberfest, München

เรื่อง: กรกฎ ฉัตรชมชื่น

 

หลายๆ คนคงเคยได้ยินชื่องานออคโทเบอร์เฟสท์ หรือที่ชาวมึนเช่นเรียกกันว่า วีเซ่น (Wiesn) งานนี้จัดเป็นงานเทศกาลที่เรียกได้ว่าสำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดของเมืองมึนเช่น ซึ่งจัดขึ้นในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายนไปจนถึงต้นเดือนตุลาคมของทุกปี โดยงานออคโทเบอร์เฟสท์จัดขึ้นครั้งแรกในวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ. 1810 แต่ในครั้งแรกนั้น จุดประสงค์ของงานไม่ใช่เพื่อเป็นเทศกาลเบียร์อย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน แต่เป็นการเฉลิมฉลองงานมงคลสมรสของมกุฎราชกุมารลุดวิก (Kronprinz Ludwig – ซึ่งต่อมาได้ครองราชย์เป็นพระเจ้าลุดวิกที่ 1 นั่นเอง) และเจ้าหญิงเธเรเซอ แห่งซัคเซน-ฮิลด์บวร์กเฮาเซน (Therese von Sachsen-Hildburghausen) และนี่จึงเป็นที่มาของชื่อสถานที่จัดงานออคโทเบอร์เฟสท์ที่เรียกว่า Theresienwiese หรือ วีเซ่น ปัจจุบันงานออคโทเบอร์เฟสท์กลายเป็นงานเทศกาลรื่นเริงที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นชาวเยอรมันเองหรือชาวต่างชาติจากทั่วโลก โดยจากสถิติล่าสุด มีผู้เข้าร่วมงานปีละกว่า 6 ล้านคน กิจกรรมในงานออคโทเบอร์เฟสท์จะแบ่งออกเป็นสองส่วนหลักๆ ได้แก่ส่วนที่เป็นเต็นท์เบียร์กว่า 30 เต็นท์ กับส่วนเครื่องเล่นด้านนอกซึ่งจะมีลักษณะคล้ายๆ งานวัดบ้านเราแหละครับ ผู้มาเข้าร่วมงานเทศกาลนี้มักจะแต่งกายด้วยชุดท้องถิ่นของชาวรัฐบาเยิร์น โดยชุดของผู้ชายจะมีลักษณะเป็นกางเกงหนังขาสามส่วนมีชื่อว่า เลเดอร์โฮเซน (Lederhosen) ส่วนของฝ่ายหญิงเรียกกันว่า Dirndl (เดียร์นเดิล) เป็นชุดที่เรียกได้ว่า หน้าอก หน้าใจมีเท่าไหร่ก็จะถูกดันออกมาโชว์กันเต็มที่ รับรองถูกใจหนุ่มๆ ทั้งหลายแน่นอน และขึ้นชื่อว่าเป็นงานเบียร์ ย่อมต้องมีเบียร์ดีๆ มาให้คอเบียร์ทั้งหลายได้ลิ้มลอง โดยเบียร์ในงานจะมาจากโรงเบียร์เก่าแก่ในมึนเช่นทั้งหมด ต้องบอกว่าเก่าจริงๆครับ บางโรงเบียร์มีอายุกว่า 800 ปี มีทั้งหมด 6 ยี่ห้อ ได้แก่ Augustiner, Hacker-Pschorr, Hofbräuhaus, Löwenbräu, Paulaner และ Spatenbräu โดยจะเสิร์ฟทีละเหยือกขนาด 1 ลิตร เหตุที่คนจากทั่วโลกต้องดั้นด้นมางานออคโทเบอร์เฟสท์ที่เมืองมึนเช่น ก็เนื่องจากเบียร์ที่เสิร์ฟในงานออคโทเบอร์เฟสท์จะต้องเป็นเบียร์ที่หมักและผลิตในมึนเช่นเท่านั้น ซึ่งสิ่งนี้จะการันตีได้เลยว่าคนที่มาเที่ยวงานจะได้ลิ้มรสชาติของเบียร์มึนเช่นแท้ๆ แน่นอน ส่วนอาหารในงานก็จะเป็นอาหารเยอรมันทั่วๆ ไป โดยอาหารที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเห็นจะเป็นไก่ย่าง ขาหมู และไส้กรอก สุดท้ายผมมีคำแนะนำอยากจะฝากเพื่อนๆ ที่สนใจจะมาร่วมงานสักเล็กน้อย ว่าหากต้องการที่จะเข้าไปนั่งในเต็นท์เพื่อรับบรรยากาศ ผมแนะนำให้ไปแต่เนิ่นๆ หรือจองโต๊ะล่วงหน้า (http://www.oktoberfest.de/en/navitem/Beer+Tents/) เพราะมิเช่นนั้นอาจจะไม่มีโต๊ะนั่งได้ครับ

ข้อมูลอ้างอิง http://de.wikipedia.org/wiki/Oktoberfest

Oktoberfest in MunichOktoberfest in MunichKorrakot & Friends in OktoberfestSchweinehaxe in Oktoberfest

Cannstatter Volksfest, Stuttgart

เรื่อง: กิตติ คำแก้ว

 

ผมอยากให้คอเบียร์ทั้งไทยและเทศได้มีโอกาสมาเที่ยวงาน Cannstatter Volksfest หรือที่ชาวเมืองชตุทท์การ์ท เรียกกันในชื่อ  Cannstatter Wasen หรือ Wasen (วาเซ่น) ซึ่งจัดขึ้นเป็นเวลา  3 สัปดาห์ ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน จนถึงวันอาทิตย์ที่สองของเดือนตุลาคมของทุกปี ณ บริเวณลานวาเซ่น ริมแม่น้ำเนคคาร์ (Neckar) ใกล้กับสถานีรถไฟบาด คันน์ชตัทท์ (Bad Cannstatt) ซึ่งเทศกาลนี้มีมากว่า 194 ปีแล้ว! โดยจัดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1818 ตามพระประสงค์ของพระเจ้าวิลเฮล์มที่ 1 (König Wilhelm I) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการเกษตรกรรมของแคว้น Württemberg  (เวือร์ทเทมแบร์ก) สัญลักษณ์ของงานซึ่งมีมาตั้งแต่ครั้งแรกที่จัดคือ หอคอยผลไม้ (Fruchtsäule) ซึ่งจะประดับด้วยข้าวโพด ผักและผลไม้นานาชนิด ในอดีตมีการจัดแข่งม้าและมอบรางวัลให้กับผู้ที่มีผลงานดีเลิศในการทำปศุสัตว์ด้วย ปัจจุบันมีขบวนพาเหรดของกลุ่มคนที่แต่งกายด้วยชุดทหาร เครื่องแต่งกายพื้นเมือง กลุ่มคนเลี้ยงแกะที่เต้นระบำไปพร้อมกับเสียงดนตรี และขบวนรถที่ประดับประดาด้วยสีสันสวยงามให้ได้ชม รวมถึงมีสวนสนุกพร้อมด้วยเครื่องเล่นต่างๆ ที่รอท้าทายนักท่องเที่ยวที่ชอบความตื่นเต้นให้มาวัดใจกันว่าใครจะกรี๊ดดังกว่ากัน แต่ที่ขาดไม่ได้และถือเป็นไฮไลท์ของงานนี้คือ เต็นท์เบียร์ที่ตั้งเรียงรายรอให้นักดื่มมาลิ้มรสเบียร์พื้นเมือง อาทิเช่น Stuttgarter Hofbräu เบียร์ที่รสชาติดีที่สุด ใครที่มาถึงเมืองชตุทท์การ์ท แล้วไม่ได้ดื่มถือว่าพลาด! ว่ากันต่อถึงเต็นท์เบียร์ในงานเพราะเดี๋ยวคอเบียร์ทั้งหลายจะไม่เห็นภาพความยิ่งใหญ่ Stuttgarter Hofbräu มีเต็นท์ให้นักดื่มถึงสองเต็นท์ด้วยกัน ซึ่งจุคนได้เต็นท์ละ 5,000 คน เบียร์ Dinkelacker มีหนึ่งเต็นท์จุคนได้ 4,500 คน เต็นท์เบียร์ Schwaben Bräu จุคนได้ 5,200 คน เต็นท์เบียร์ Fürstenberg จุคนได้ 5,000 คน นอกจากนี้ยังมีเต็นท์และซุ้มขายอาหารและเบียร์ทั้งใหญ่และเล็กอีกหลายเต็นท์ อาหารที่นิยมกันมากที่สุดในหมู่นักเรียน คือ เต็นท์ Festzelt Göckelesmaier ซึ่งขายไก่ย่างที่มีชื่อเสียงมากว่า 70 ปี (ในภาษาชเวบิชซึ่งเป็นภาษาถิ่น คำว่า Göckele แปลว่า ไก่ย่าง) โดยเต็นท์นี้จะขายเบียร์ Stuttgarter Hofbräu อีกด้วย และเคล็ดลับเด็ดๆ คือ ทุกวันอังคาร เบียร์ 1 ลิตรจะลดครึ่งราคาสำหรับนักเรียน ด้วยเหตุที่มีเต็นท์ขายเบียร์เป็นจำนวนมากประกอบกับจำนวนผู้มาเยือนอย่างล้นหลามในแต่ละปี ทำให้คันน์ชตัทเทอร์ โฟล์คเฟสท์เป็นเทศกาลเบียร์ที่ใหญ่เป็นอันดับที่สองของโลก รองจากงานออคโทเบอร์เฟสท์ที่เมืองมึนเช่น เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว รีบตัดสินใจจองตั๋วเดินทางมาเที่ยวงานวาเซ่นที่เมืองชตุทท์การ์ทด้วยกันนะครับ

สำหรับผู้ที่สนใจงานดังกล่าว สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.cannstatter-volksfest.de

Cannstatter VolkfestCannstatter VolkfestKitti in Cannstatter Volkfest - StuttgartCannstatter Volkfest - Stuttgart

 

Bremer Freimarkt, Bremen

เรื่อง: สารนาถ เทียมแก้ว

เมื่อยามที่ใบไม้เริ่มเปลี่ยนสีในฤดูใบไม้ร่วง พร้อมกับอากาศหนาวเย็นที่เริ่มคืบคลานเข้ามา ก็เป็นสัญญาณว่าเทศกาลงานออกร้านเฉลิมฉลองที่เก่าแก่ที่สุดในเยอรมนี (เริ่มครั้งแรกในปี ค.ศ. 1035) กำลังใกล้เข้ามาแล้ว งานนั้นก็คือ Bremer Freimarkt แห่งเมืองเบรเมนนั่นเอง  โดยงานนี้จะจัดขึ้นในช่วงราวๆ สองสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคมของทุกปี โดยสถานที่จัดงานหลักอยู่ที่ Bürgerweide ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังของสถานีรถไฟหลักของเมือง นอกจากนี้ยังมีการจัดงานบริเวณลาน Bremer Marktplatz และรอบๆ ศาลากลางเมือง (Bremer Rathaus) ในย่านเมืองเก่า โดยเรียกการจัดงานบริเวณนี้ว่า Kleiner Freimarkt ซึ่งบรรยากาศชวนให้ย้อนรำลึกไปถึงการจัดงานในสมัยก่อนที่จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าก่อนที่ฤดูหนาวจะมาถึง ในขณะที่บริเวณจัดงานหลักจะเต็มไปด้วยบรรยากาศของการดื่มกินและเฉลิมฉลอง  ถ้าจะบรรยายให้เห็นภาพกันง่ายๆ ก็คงคล้ายๆ กับงานวัดหรืองานกาชาดบ้านเราดีๆ นี่เอง โดยมีการเล่นเกมส์ จับฉลาก ปาลูกดอก ชิงรางวัล แลกตุ๊กตา รวมไปถึงเครื่องเล่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ม้าหมุน ชิงช้าสวรรค์ รถบั๊มพ์ รวมไปถึงเครื่องเล่นชวนหวาดเสียวอย่างรถไฟเหาะตีลังกา ล่องแก่งท่ามกลางอากาศหนาวเย็น ไวกิ้ง บ้านผีสิง ก็มีให้เห็นกันในงานนี้  จุดน่าสนใจของงานอีกอย่างหนึ่งก็คือในวันเสาร์ที่สองของการจัดงาน จะมีขบวนพาเหรดแฟนซีเดินผ่านตัวเมือง เริ่มตั้งแต่ราวๆ สิบโมงเช้าจากย่านเมืองใหม่ (Neustadt) ไปสิ้นสุดที่ลานหน้าสถานีรถไฟหลัก (Bahnhofsplatz) โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 3,500-5,000 คน กินเวลาเดินทั้งหมดร่วมสามชั่วโมงเลยทีเดียว ถ้าเดินเล่นในงานจนท้องเริ่มหิว  ก็ไม่ต้องเป็นกังวล เพราะมีอาหารและขนมให้เลือกรับประทานกันได้ตลอดทั้งงาน ตั้งแต่สเต็กย่างบนเปลวไฟ ไส้กรอกเนื้อม้า ปลาทอด ขนม Schmalzkuchen ที่ดูๆ ไปมันก็คือปาท่องโก๋ราดไอซิ่งดีๆ นี่เอง ไอศกรีม ถั่วอัลมอนด์คั่วเคลือบน้ำตาล ผลไม้ชุบช็อคโกแลต ส่วนคอแอลกอฮอล์ก็ไม่น้อยหน้า มีเต็นท์เบียร์ให้เข้าไปเลือกดื่มกันได้เต็มที่ ซึ่งถ้าพูดถึงเบียร์เบรเมนก็คงหนีไม่พ้นเบียร์ Beck’s ที่มีโรงงานผลิตตั้งอยู่ในเบรเมน นอกจากนี้ก็มี Hacke Beck และ Hemelinger ซึ่งเป็นเบียร์ท้องถิ่นให้ลองชิม ส่วนเบียร์อื่นๆ อย่าง Paulaner และ Franziskaner ก็สามารถหาดื่มได้ภายในงานนี้เช่นกัน แต่ถ้าจะให้เข้ากับอากาศเย็นๆ ในช่วงเวลานี้ เห็นจะต้องขอ Glühwein (ไวน์ร้อน) อุ่นๆ ซักแก้ว แล้วไปยืนเก๊กท่าที่เครื่องถ่ายรูปอัตโนมัติที่จุด Foto Point ซึ่งสามารถเข้าไปดูรูปตามเวลาที่ถ่ายได้ที่ http://www.fotopoint.freimarkt.de/  ถ้าหากคุณอยากรู้ว่าบรรยากาศงานวัดในแบบฉบับเยอรมันเป็นอย่างไร เห็นจะต้องลองมาสัมผัสบรรยากาศงานไฟรมาร์คท์ ที่เมืองเบรเมนดูสักครั้ง

 

 

ข้อมูลบางส่วนอ้างอิงจาก : http://de.wikipedia.org/wiki/Bremer_Freimarkt

Bremer FreimarktBremer FreimarktParade in Bremer FreimarktSaranart in Bremer Freimarkt

เป็นอย่างไรกันบ้างคะ? ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลเบียร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างออคโทเบอร์เฟสท์ที่เมืองมึนเช่น ตามมาด้วยงานเบียร์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองอย่างงานคันน์ชตัทเทอร์ โฟล์คเฟสท์ ณ เมืองชตุทท์การ์ท หรืองานฟันแฟร์ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศเยอรมนีอย่างเบรเมอร์ ไฟรมาร์คท์ ที่เมืองเบรเมน ก็ล้วนกระตุกต่อมคอเบียร์และหลายๆ คนที่ชื่นชอบงานรื่นเริงในช่วงฤดูใบไม้ผลิกันถ้วนหน้า ยิ่งเห็นคำเชิญชวนของเจ้าบ้านทั้งสามแล้ว เราก็อดใจไม่ได้ที่จะตีตั๋วเดินทางไปตามเมืองต่างๆ ดังกล่าว เพื่อไปลิ้มลองบรรยากาศเทศกาลเบียร์และงานฟันแฟร์ที่เสนอกันมาอย่างถึงพริกถึงขิงเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม ใครที่ไม่ได้อยู่ใกล้สามเมืองนี้ ไม่ต้องน้อยใจไปนะคะ เพราะงานต่างๆ ดังกล่าวในประเทศเยอรมนีไม่ได้มีเฉพาะในสามเมืองใหญ่นี้เท่านั้น หากแต่ยังมีให้เห็นในเมืองเล็กเมืองน้อยหรือเมืองใหญ่ทั่วๆ ไป อาทิเช่น งาน Gäubodenvolksfest ที่เมืองชเตราบิง, งาน Hamburger Dom ณ เมืองฮัมบวร์ก, งาน Hannover Schützenfest ที่เมืองฮันโนเฟอร์ ฯลฯ ใครสะดวกที่ไหน เมืองใด ก็สามารถตรวจสอบช่วงระยะเวลาจัดงานที่แน่นอนในแต่ละปีและเดินทางไปสนุกสนานกันตามอัธยาศัยในเมืองต่างๆ ได้ค่ะ

จริงอยู่ว่าเทศกาลเบียร์ในฤดูใบไม้ร่วงของปีนี้ได้ผ่านพ้นไปเรียบร้อยแล้ว แต่หากเมื่อปีหน้าฟ้าใหม่กลับมาอีกครั้ง ก็อย่าลืมหันไปชักชวนคนรู้จัก จูงมือคนรู้ใจไปสัมผัสงานเบียร์และฟันแฟร์ที่ยิ่งใหญ่และเลื่องชื่อระดับโลกต่างๆ นี้ได้ ไม่ใกล้ไม่ไกล… แค่ในประเทศเยอรมนีนี้เอง


รู้ไว้ใช่ว่า: ทำไมต้องเรียกว่า Oktoberfest?

ตั้งแต่สมัยอดีตกาล ชาวบ้านมักจะจัดงานเฉลิมฉลองวาระสิ้นสุดฤดูเก็บเกี่ยวในเดือนตุลาคมของแต่ละปี โดยจะเริ่มเก็บเกี่ยวพืชผลกันตั้งแต่ราวๆ ปลายเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา ซึ่งวันสำคัญหลักในการเฉลิมฉลองดังกล่าว คือ วันอาทิตย์แรกของเดือนตุลาคม เลยเป็นเหตุให้เรียกเทศกาลเฉลิมฉลองนี้ตามเดือนตุลาคมว่า ออคโทเบอร์เฟสท์

แต่หลายๆ คนก็ยังตั้งคำถามต่อไปว่า แล้วทำไมถึงเป็นออคโทเบอร์เฟสท์ ทั้งๆ ที่งานนี้มักจะเริ่มในช่วงเดือนกันยายน เรามีคำตอบค่ะ… ทางผู้จัดงานออคโทเบอร์เฟสท์ (www.oktoberfest.de) ให้เหตุผลว่า เนื่องจากสภาพอากาศทุกวันนี้เริ่มจะเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น เมื่อเริ่มเข้าเดือนตุลาคม อากาศก็เริ่มจะหนาวเย็นเร็วกว่าสมัยก่อน ทั้งพระอาทิตย์ก็ตกเร็วกว่าในเดือนกันยายนอีกด้วย ซึ่งถ้ายังจัดงานในช่วงเดือนตุลาคมเป็นหลักอยู่ กิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดร้านขายของหรือการละเล่นเครื่องเล่นต่างๆ รวมทั้งผู้คนที่นั่งรื่นเริงกันอยู่ในเบียร์การ์เดนก็จะไม่สำราญกันอย่างเต็มที่ เพราะต้องผจญกับความหนาวเย็นที่คืบคลานเข้ามาทุกขณะ ด้วยเหตุดังกล่าว ออคโทเบอร์เฟสท์จึงเลื่อนเวลาจัดให้เร็วขึ้นมาเล็กน้อยในเดือนกันยายนค่ะ

 

นิตยสาร opnmnd ฉบับเต็มสามารถดาวน์โหลดได้ ที่นี่

 

Leave a Reply