เกร็ดเล็ก เกร็ดน้อย ในการเช่ารถยนต์

 

การเช่ารถยนต์

การเช่ารถยนต์ ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจในกรณีที่มีผู้ร่วมเดินทางมากกว่าสามคนขึ้นไป ค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยเฉลี่ยอาจน้อยกว่าการเดินทางโดยรถไฟ หรือเครื่องบิน (ในประเทศเยอรมนี) อย่างไรก็ดี การตัดสินใจเช่ารถนั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับผู้ที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ข้อมูลดังต่อไปนี้อาจเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจในการเช่ารถยนต์เพื่อการท่องเที่ยวหรือในโอกาสต่างๆ

  • บริษัทเช่ารถส่วนใหญ่จะมีข้อเสนอในการเช่ารถยนต์ช่วงสุดสัปดาห์ในราคาพิเศษ โดยสามารถรับรถได้ ตั้งแต่ตอนเที่ยงของวันศุกร์เป็นต้นไปและคืนภายในวันจันทร์ก่อน 9:00 นาฬิกา(ของบริษัท Avis สามารถรับรถได้ตั้งแต่วันศุกร์และคืนภายในเวลาเดียวกันของวันจันทร์)

  • ในการเช่ารถแต่ละครั้ง อัตราค่าเช่าจะคิดเป็นทุกๆ 24 ชั่วโมง ยกตัวอย่างเช่น หากเริ่มเช่ารถเวลา 8:00 นาฬิกา ของวันที่ 1 จะต้องทำการคืนรถก่อนเวลา 8:00 นาฬิกา ของวันที่สอง หากเกินกว่านั้นทางบริษัทจะถือเป็นการเช่า 2 วัน

  • การรับรถที่สถานีรถไฟหรือสนามบิน จะมีค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นจากราคาเช่าปกติประมาณ 25% ในประเทศเยอรมนี ในกรณีที่ต้องการรับรถจากสถานีรถไฟหรือสนามบิน ควรระบุรอบรถไฟหรือเที่ยวบินลงไปในขณะทำการจองด้วย หากรถไฟหรือเที่ยวบินมาถึงที่หมายช้ากว่ากำหนด ทางบริษัทเช่ารถ จะยังคงทำการก็บรักษารถไว้ให้โดยไม่คิดค่าบริการ หรือยกเลิกการจอง

  • ในกรณีที่สถานที่คืนรถอยู่ในต่างเมืองหรือต่างประเทศ จะมีค่าธรรมเนียม One Way Rental เพิ่มขึ้น ขึ้นอยู่กับเมืองและประเทศนั้นๆ

  • หากต้องการรับรถนอกเวลาทำการ ต้องทำการจองรถล่วงหน้าอย่างน้อยสามวันและต้องเสียค่าธรรมเนียมในการรับรถนอกเวลา ซึ่งอาจไม่สามารถทำได้ในทุกสถานีเช่ารถ

  • ผู้ที่สามารถทำการขับรถได้คือผู้เช่าและบุคคลในครอบครัวของผู้เช่าเท่านั้น ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุโดยผู้อื่นเป็นผู้ขับ บริษัทประกันภัยอาจปฏิเสธความรับผิดชอบในความเสียหายของรถยนต์ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหากต้องการขับรถที่เช่าหลายคน สามารถระบุชื่อคนที่จะทำการขับเพิ่มได้โดยอาจมีค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม


การประกันภัย

LDW (Loss Damage Waiver)/ CDW (Collision Damage Waiver)
ประกันคุ้มครองค่าความเสียหายของตัวรถ โดยส่วนใหญ่แล้วบริษัทประกันภัยจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหาย ในกรณีที่ค่าเสียหายสูงกว่าตามที่ตกลงในสัญญาเช่ารถ (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของสัญญาเช่า) ยกตัวอย่างเช่น บริษัทประกันภัยจะรับผิดชอบค่าเสียหายของตัวรถในกรณีที่ค่าเสียหายเกินกว่า € 500 ซึ่งในกรณีที่ค่าเสียหายของตัวรถ € 2,000 ผู้เช่าจะต้องรับผิดชอบในค่าเสียหาย € 500 และส่วนที่เกิน บริษัทประกันจะเป็นผู้รับผิดชอบ หากไม่มีประกันภัยในส่วนนี้ ผู้เช่าจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับตัวรถ

หมายเหตุ: บริษัทเช่ารถบางแห่ง อาจมีข้อเสนอในการในเพิ่มการคุ้มครองให้ผู้เช่ารถมีส่วนในการรับผิดชอบกับความเสียหายของตัวรถน้อยลงหรือไม่ต้องรับผิดชอบเลย

PAI (Personal Accident Insurance)
เป็นประกันภัยส่วนบุคคลในกรณีที่มีบุคคลได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ

ประเภทและชนิดของรถ

บริษัทเช่ารถส่วนใหญ่ จะแบ่งประเภทและขนาดของรถตามมาตรฐานของ ACRISS (The Association of Car Rental Industry System Standards) ซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1989 โดยความร่วมมือกันของบริษัทให้บริการเช่ารถรายใหญ่หลายราย เพื่อเป็นมาตรฐานในการระบุขนาดของรถที่ให้เช่า

รหัส ACRISS ประกอบไปด้วยตัวอักษร 4 ตัวเพื่อระบุขนาด และประเภทของรถ ดังนี้

ตัวอักษรตัวแรกของรหัส (ขนาดของรถ)
M – Mini
E – Economy
C – Compact
I – Intermediate
S – Standard
F – Fullsize
P – Premium
L – Luxury
X – Special

ตัวอักษรตัวที่สองของรหัส (ชนิดของตัวรถ)
B – 2-3 Doors
C – 2/4 Doors
D – 4-5 Doors
F – SUV
L – Limousine
P – Pickup
S – Sport
T – Convertible
V – Passenger Van
W – Wagon
X – Special

ตัวอักษรตัวที่สามของรหัส (ชนิดของเกียร์)
M – Manual
A – Automatic

ตัวอักษรตัวที่สี่ของรหัส (ชนิดของน้ำมันเชื้อเพลิง/เครื่องปรับอากาศ)
R – Unspecified/Air Conditioned
N – Unspecified/No Air Conditioned

ยกตัวอย่างเช่น
CDAR – Compact, 4-doors, Automatic Transmission and Air-conditioning
IDMR – Intermediate, 4-doors, Manual Transmission and Air-conditioning