สวีดิช ลัปป์ลันด์: โรงแรมน้ำแข็ง แสงเหนือและไซบีเรียน ฮัสกี้

Northern Light in Abisko, Sweden


ผู้เขียน ธนะ คำรณฤทธิศร (บิล)

การเตรียมตัวก่อนไปถ่ายภาพ
– การแต่งกาย ควรเตรียมเครื่องแต่งกายให้เหมาะสมและอบอุ่นเพียงพอ ซึ่งไม่ควรมองข้ามระยะเวลาที่ต้องรอแสงเหนือในอากาศที่หนาวเย็นจัดเป็นเวลานาน
– ควรมองหาสถานที่ที่เหมาะสมในช่วงเวลากลางวันหรือก่อนท้องฟ้าจะมืดสนิทไว้ล่วงหน้า เพื่อกลับมาดูแสงเหนือตอนฟ้ามืดแล้ว ควรเป็นบริเวณที่ห่างไกลจากเมือง เพื่อหลีกเลี่ยงแสงไฟและหมอกควันจากอุตสาหกรรมต่างๆ
– เมื่อได้สถานที่ที่เหมาะสมแล้ว เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม เช่น ขาตั้งกล้องและการตั้งค่าของตัวกล้อง
– ในขณะที่รอดูแสงเหนือนั้น ควรเก็บกล้องถ่ายรูปไว้ในกระเป๋ากล้อง เพื่อป้องกันตัวกล้องจากความเย็นของสภาวะแวดล้อม หากตัวกล้องไม่ได้อยู่ในกระเป๋า ควรหันหน้าเลนส์ลงพื้นเพื่อป้องกันน้ำแข็งเกาะบริเวณหน้าเลนส์

อุปกรณ์ที่จำเป็นในการถ่ายภาพแสงเหนือ
1. กล้องถ่ายภาพที่สามารถตั้งความเร็วของชัตเตอร์ได้
2. เลนส์มุมกว้างและมีค่า F ต่ำ
3. ขาตั้งกล้อง
4. รีโมทแบบมีสายลั่นชัตเตอร์
5. ไฟฉาย ใช้ในการนำทางและเตรียมอุปกรณ์ (ดูไม่สำคัญ… แต่สำคัญมาก)

การตั้งค่าของตัวกล้อง
1. ตั้งค่าความไวแสง (ISO) ประมาณ 400 – 800 ไม่ควรตั้งค่า ISO ให้สูงมากนักเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดสัญญาณรบกวน (Noise) ในจุดที่เป็นที่มืดในภาพ
2. ความเร็วของชัตเตอร์ควรตั้งเป็นโหมด Bulb และหากมีสายลั่นชัตเตอร์ จะช่วยเพิ่มความสะดวกในการถ่ายภาพมากขึ้นในการล็อกชัตเตอร์
3. เลือกระบบโฟกัสแบบ Manual และตั้งระยะโฟกัสที่ Infinity หรือเปิดระบบ Auto Focus แล้วทำการโฟกัสไปที่ดวงจันทร์ แล้วจึงค่อยเปิดเป็นระบบ Manual Focus เวลาที่จะถ่ายภาพแสงเหนือ
4. ควรมีแบตเตอรี่สำรองอย่างน้อย 1 ก้อน โดยเก็บแบตเตอรี่สำรองไว้ในกระเป๋าหรือบริเวณที่อุ่น เนื่องจากที่อุณหภูมิต่ำ อายุการใช้งานของแบตเตอรี่จะสั้นกว่าอุณหภูมิปกติ และการเปิดชัตเตอร์เป็นเวลานานในขณะถ่ายภาพ ตัวกล้องจะใช้พลังงานจากแบตเตอรี่มากกว่าปกติ
5. ในกล้องบางรุ่นอาจมีฟังก์ชัน Long Exposure Noise Reduction ควรเปิดฟังก์ชันนี้เพื่อลดสัญญาณรบกวน ในกรณีที่ถ่ายภาพโดยเปิดชัตเตอร์เป็นเวลานาน
6. ตั้งค่าความสว่างของหน้าจอ LCD บนกล้องในระดับต่ำ เพราะในสภาวะแวดล้อมที่มืดมิด จอ LCD ที่สว่างเกินไป อาจทำให้ภาพที่เห็นบนจอผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง หากเป็นไปได้ ให้ดู Histogram ของภาพเป็นหลัก
7. ขาตั้งกล้องที่ใช้ควรสูงเพียงพอและมีความมั่นคง เหมาะสมกับน้ำหนักของตัวกล้องและเลนส์ และควรจะมีหัวที่ทำการปรับมุมเงยได้
8. ควรถอดฟิลเตอร์ทุกชนิดออกจากหน้าเลนส์ขณะทำการถ่ายภาพ

ขณะถ่ายภาพ
– หลังจากเห็นปรากฎการณ์แสงเหนือแล้ว ควรรีบถ่ายภาพการเกิดปรากฎการณ์แสงเหนือ “เผื่อไว้” ในทุกครั้ง เพราะแต่ละครั้งจะเกิดในระยะเวลาที่ไม่แน่นอน อาจเกิดเพียงแค่ไม่กี่นาที และควรคำนึงถึงระยะเวลาที่เริ่มถ่าย และระยะเวลาที่กล้องทำการเปิดชัตเตอร์เพื่อเก็บภาพด้วย
– ระยะเวลาในการเปิดชัตเตอร์นั้น ขึ้นอยู่กับความสว่างของตัวเลนส์ (F-Stop) และความสว่างของแสงเหนือเองด้วย
ที่ความสว่างของแสงเหนือปกติ ความเร็วของชัตเตอร์ ยกตัวอย่างเช่น
ความสว่างของเลนส์ F 2.8 ความเร็วชัตเตอร์ ประมาณ  30 วินาที ที่ ISO 400
ความสว่างของเลนส์ F 3.5 ความเร็วชัตเตอร์ ประมาณ  45 วินาที ที่ ISO 400
– ควรระมัดระวังการหายใจในบริเวณที่ใกล้กับตัวกล้อง เนื่องด้วยในสภาวะอากาศหนาวเย็น ลมหายใจจะมีไอน้ำปะปนอยู่ในปริมาณสูง
– หากต้องการถ่ายรูปบุคคลกับแสงเหนือ สามารถทำได้โดยการเปิดแฟลช โดยให้โฟกัสที่ตัวบุคคล
– หลังจากกลับเข้าที่พัก ไม่ควรนำกล้องออกจากกระเป๋าทันที ควรเก็บไว้ในกระเป๋า เพื่อให้ความเย็นของตัวกล้องค่อยๆ กลับเข้าสู่อุณหภูมิห้องอย่างช้าๆ เสียก่อน

Northern Light


นี่ก็เข้าใกล้ฤดูแสงเหนือมาเยือนโลกแล้ว หวังว่าหลายๆ คนคงจะหาโอกาสดีๆ ไปยลแสงเหนือกันถ้วนหน้านะคะ… จริงอยู่ว่า หลายๆ คนคิดว่าการเดินทางไปดูแสงเหนือในแถบประเทศสแกนดิเนเวียนั้นยาก อาจเพราะการเดินทางที่ลำบากเนื่องจากค่อนข้างไกล และที่สำคัญคือคิดว่ามีราคาแพงมาก จึงตัดสินใจล้มเลิกโอกาสดีๆ ดังกล่าวในที่สุด แต่ที่จริงแล้ว  การเดินทางไปดูแสงเหนือทุกวันนี้ค่อนข้างสะดวก เป็นระบบ ยิ่งถ้าหากเราตระเตรียมการเดินทาง ทั้งจองที่พัก กิจกรรมฤดูหนาวต่างๆ และตั๋วเดินทางไว้ล่วงหน้า 2-3 เดือน ก็จะลดค่าใช้จ่ายจริงไปได้มากกว่า 50% เมื่อเทียบกับการซื้อในเวลาปกติ นอกจากนั้นการจองล่วงหน้ายังเกิดผลดีแก่ผู้เดินทาง เพราะที่พักดีๆ ราคาถูกมักจะหายากและถูกจองไปล่วงหน้าแล้ว โดยยกตัวอย่างค่าใช้จ่ายจริงที่ชาวเราไปผจญภัยนั้น 6 วัน ประมาณ 550 ยูโร (22,000 บาท) ต่อคน ซึ่งถือว่าคุ้มมากมายกับการได้เห็นปรากฏการณ์ธรรมชาติครั้งหนึ่งในชีวิต ทั้งยังได้เรียนรู้วัฒนธรรมการดำเนินชีวิตของชาวขั้วโลกเหนืออีกด้วย แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งสำคัญที่สุดในการเดินทางไปดูแสงเหนือคือ “ใจ” ที่ตั้งมั่นในการชมแสงเหนือ เพราะบางครั้งการเฝ้ารอปรากฏการณ์ธรรมชาติที่จะปรากฏขึ้นไม่แน่นอนในแต่ละวัน ประกอบกับความหนาวเย็นสุดขั้ว อาจทำให้เราเกิดความ “ท้อ” ในการรอคอยได้ แต่หากว่าวันดังกล่าวเป็นเวลาฟ้าเปิด ไร้เมฆ มืดมิดพอที่จะเห็นแสงเหนือได้ ประกอบกับเรามีจิตตั้งมั่นพอว่าจะได้เห็นปรากฏการณ์นี้ แสงเหนือที่ว่าพบเห็นได้ยาก ก็มักจะไม่ทำให้คนที่เฝ้ารอต้องผิดหวังและกลับบ้านมือเปล่าอย่างแน่นอน…

 

Leave a Reply