ตุรกี: สุเหร่าสีนํ้าเงิน บ้านภูเขาหินเจาะ ปราสาทปุยฝ้ายและเตอร์กิชเคบับ
Written by Punnaporn Archawaranon   
Monday, 28 January 2013 16:57
Share

เรื่อง: พรรณพร อัชวรานนท์ ภาพ: ธนะ คำรณฤทธิศร

จากคอลัมน์ "Terminal EU" (TSVD: opnmnd Magazine #2 เบียร์)
The blue mosque, Istanbul


เมื่อมีโอกาสมาร่ำเรียนหรือทำงานในประเทศเยอรมนีหรือเขตประเทศเชงเก้น (Schengen) แล้ว น้อยคนนักอยากจะเดินทางท่องเที่ยวออกนอกเขตดังกล่าว เนื่องจากการสัญจรข้ามพรมแดนประเทศต่างๆ ภายในเขตแดนนี้มีความสะดวกสบายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทั้งยังไม่ต้องยุ่งยากกับการขอวีซ่าเข้าในแต่ละประเทศอีก หากแต่ในทวีปยุโรปยังมีอีกประเทศหนึ่งนอกเขตเชงเก้น ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า (อีกต่อไป) เนื่องจากประเทศไทยเพิ่งทำข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการยกเว้นการขอวีซ่า และนั่นคือ “ประเทศตุรกี” ดินแดนแห่งสองทวีป (ยุโรป-เอเชีย) นี่เอง...

 


ตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ผู้ถือหนังสือเดินทางไทยไม่ต้องขอวีซ่าเข้าประเทศตุรกี หากอยู่ไม่เกิน 30 วัน โดยทาง ต.ม. จะอนุญาตให้เข้าเมืองได้หลายครั้งภายในระยะเวลา 180 วัน แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 90 วัน เนื่องจากข้อตกลงดังกล่าวยังค่อนข้างใหม่ พนักงานตรวจคนเข้าเมืองและตำรวจอาจยังไม่คุ้นเคยกับข้อตกลงนี้ เราขอแนะนำให้คนไทยที่จะเดินทางไปตุรกีพกเอกสารข้อตกลงติดตัวตลอดการเดินทางด้วย
ภาษาอังกฤษ http://bangkok.emb.mfa.gov.tr/ShowAnnouncement.aspx?ID=159498
ภาษาตุรกี http://bangkok.emb.mfa.gov.tr/ShowAnnouncement.aspx?ID=159500


 

เราวางแผนจะไปสถานที่หลักๆ แถบตะวันตกของประเทศตุรกีก่อนในทริปนี้ โดยเริ่มนั่งเครื่องบินจากเมืองชตุทท์การ์ท (ซึ่งมีชุมชนคนตุรกีมากเป็นอันดับต้นๆ ในเยอรมนี) ไปลงที่สนามบินอตาเติร์ก สนามบินหลักของอิสตันบูล (Istanbul) และเดินทางเข้าเมืองอิสตันบูลด้วยรถไฟใต้ดิน (M1) และรถราง (T1) เราเลือกพักอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากเมืองเก่า โชคดีที่ว่าสถานที่ท่องเที่ยวส่วนใหญ่ในอิสตันบูลอยู่ในละแวกเดียวกัน สามารถเดินถึงกันได้สบายๆ และยังมีรถรางผ่านเกือบทุกจุดท่องเที่ยวเลยทีเดียว

 


Tip

ระวังนะคะ อย่าสับสนกับสนามบินที่อิสตันบูล เพราะที่นี่มี 2 สนามบินค่ะ
1. สนามบินนานาชาติอตาเติร์ก (Atatürk International Airport - IST) อยู่ในโซนยุโรปของเมืองอิสตันบูล เป็นสนามบินนานาชาติหลักของเมือง อยู่ห่างจากเมืองประมาณ 12 กิโลเมตร
2. สนามบินนานาชาติซาบิฮา เกิกเช่น (Sabiha Gökçen International Airport - SAW) อยู่ในโซนเอเชียของเมืองอิสตันบูล เป็นสนามบินรอง ให้บริการสายการบินต้นทุนต่ำและเครื่องบินภายในประเทศเป็นหลัก อยู่ห่างจากเมืองประมาณ 35 กิโลเมตร


 

หลังจากเดินทางเข้าตุรกีแล้ว เราอาจพบคำว่า “อนาโตเลีย” (Anatolia) อยู่บ่อยๆ นี่เป็นอีกหนึ่งคำที่เรียกเอเชียไมเนอร์หรือทิศตะวันตกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย ซึ่งทางภูมิศาสตร์คือดินแดนส่วนใหญ่ของประเทศตุรกีนั่นเอง ดินแดนแห่งนี้ยังเป็นเหมือนสะพานเชื่อมสองทวีป ยุโรปกับเอเชีย และเป็นเส้นทางค้าขายสำคัญอีกเส้นมาตั้งแต่ในอดีต


เมื่อมาถึงอิสตันบูล เมืองใหญ่ที่สุดในตุรกี แน่นอนว่าเราหมายมั่นปั้นมือเต็มที่ที่จะไปชมสุเหร่าสีนํ้าเงิน (Sultan Ahmed Mosque) หรือที่คนทั่วโลกรู้จักกันในนามว่า บลูมอสก์ (Blue Mosque) สุเหร่าแห่งนี้เป็นสุเหร่าสุดท้ายในช่วงยุคคลาสสิก ซึ่งใช้เวลาสร้าง 7 ปี ช่วงสมัยสุลต่านอาห์เหม็ดที่ 1 ใน ค.ศ. 1609-1616 หลายคนมักถามว่า ทำไมถึงเรียกว่า บลูมอสก์ ทั้งๆ ที่ไม่เห็นมีสีนํ้าเงินเมื่อมองดูจากภายนอกเลย คำตอบคือ สีเหล่านั้นอยู่ข้างในค่ะ สุเหร่าแห่งนี้ถูกเรียกตามกระเบื้องเคลือบสีนํ้าเงินที่ตกแต่งอยู่ภายในตัวสุเหร่า (สุเหร่าเป็นคำภาษามลายู ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากภาษาเปอร์เซียน ในขณะที่มัสยิดเป็นคำภาษาอาหรับ แต่ความหมายทั้งสองคำไม่แตกต่างกันในบริบทของคนไทย) ในสุเหร่าจะมีบริเวณสำหรับผู้มาสวดมนต์ สังเกตได้จากบริเวณที่มีโคมไฟระย้าห้อยลงมาต่ำเป็นพิเศษ การเยี่ยมชมสุเหร่าแห่งนี้ไม่เก็บค่าเข้าใดๆ นะคะ หากแต่ต้องถอดรองเท้าเข้าชมตามธรรมเนียมปฏิบัติค่ะ

The blue mosqueInside the blue mosque


คนส่วนใหญ่มักสับสนว่าอิสตันบูลเป็นเมืองหลวงของประเทศตุรกี หากแต่ที่จริงคือกรุงอังการา (Ankara) ซึ่งอยู่ตอนเหนือของประเทศ จริงอยู่ว่าอิสตันบูลเคยเป็นศูนย์กลางของจักรวรรดิไบแซนไทน์ (ในชื่อกรุงคอนสแตนติโนเปิล) และศูนย์กลางของจักรวรรดิออตโตมัน ในช่วง ค.ศ. 1453-1923  แต่เมื่อตุรกีเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบสาธารณรัฐ จึงย้ายเมืองหลวงมาที่กรุงอังการา



Hagia SofiaInside Hagia Sofia

 

ใกล้ๆ กับสุเหร่าสีนํ้าเงิน (ซึ่งดูภายนอกเป็นสีเทาด้วยซํ้า) ยังมีสุเหร่าอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งภายนอกจะมีสีแดงๆ ส้มๆ ป้ายไว้ตามอาคารอย่างไม่ตั้งใจ นี่คือ ฮาเกีย โซเฟีย (Hagia Sophia) หรือ สุเหร่า/วิหารเซนต์โซเฟีย 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคกลางและมีประวัติศาสตร์อันน่าทึ่งมายาวนาน สุเหร่าแห่งนี้มีความสำคัญตรงที่เคยเป็นโบสถ์ทางศาสนาคริสต์มาก่อน สร้างในสมัยของจักรพรรดิคอนสแตนตินเมื่อคริสตศตวรรษที่ 13 แต่ถูกทำลายและสร้างขึ้นใหม่หลายครั้ง เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างศาสนาคริสต์กับศาสนาอิสลาม เมื่อพระเจ้าโมฮัมเหม็ดที่ 2 ซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม มีอำนาจเหนือดินแดนแห่งนี้ จึงดัดแปลงให้เป็นสุเหร่าในที่สุด โดยหนึ่งในวิธีดัดแปลงที่น่าสนใจและยังคงสภาพให้เห็นอยู่ประปราย คือซากการโบกปูนทับรูปวาดของศาสนาคริสต์และประดับตราสัญลักษณ์ของอิสลามไว้แทน ปัจจุบันสุเหร่าแห่งนี้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม

 


รู้หรือไม่???

กรุงคอนสแตนติโนเปิลหรืออิสตันบูลทุกวันนี้ เป็นเมืองหลวงของสี่อาณาจักร (เรียงกัน) มาก่อน นั่นคือ จักรวรรดิโรมันซึ่งย้ายเมืองหลวงจากกรุงโรมมาที่นี่เมื่อ ค.ศ. 330, จักรวรรดิไบแซนไทน์, จักรวรรดิละติน และจักรวรรดิออตโตมัน ซึ่งศาสนาคริสต์เอง (หลากหลายนิกาย) มีบทบาทสำคัญในดินแดนนี้มาตั้งแต่สมัยจักรวรรดิโรมันจนถึงจักรวรรดิละติน แต่เมื่อจักรวรรดิออตโตมันเข้าครอบครอบดินแดนแห่งนี้เมื่อ ค.ศ. 1453 ก็ได้นำศาสนาอิสลามเข้ามาด้วยและเปลี่ยนโบสถ์คริสต์ฮาเกีย โซเฟีย ให้เป็นสุเหร่าในศาสนาอิสลาม และที่สำคัญคือ เปลี่ยนชื่อเรียกกรุงคอนสแตนติโนเปิลให้เป็นอิสตันบูลในที่สุด


 

Bacilica CisternMedusa in Bacilica Cistern

 

จากนั้นไม่ไกล เรามุดดินลงไปชมบาซิลลิกา ซิสเทิร์น (Basillica Cistern) ที่เก็บนํ้าขนาดใหญ่ที่สุดในอิสตันบูล (จุนํ้าได้ 80,000 ลูกบาศก์เมตร) สร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 สมัยจักรวรรดิไบแซนไทน์ ที่เก็บนํ้าแห่งนี้ใหญ่โตมโหฬารมาก สมัยก่อนนํ้าจากที่นี่ถูกส่งไปใช้รอบๆ เมืองเก่า โดยเฉพาะในพระราชวัง ตั้งแต่สมัยที่กรุงคอนสแตนติโนเปิลเป็นเมืองหลวง แต่ปัจจุบันไม่ได้ใช้การแล้ว  หลายคนลงมาใต้ดินแห่งนี้เพื่อมาดูหัวแม่นางเมดูซ่า 2 หัว ที่ตั้งเป็นฐานเสาของที่เก็บนํ้า บ้างว่าหัวทั้งสองคอยปกปักรักษาแหล่งนํ้าของเมือง (เนื่องจากความเชื่อที่ว่าใครจ้องตาเมดูซ่าแล้วจะกลายเป็นหิน) บ้างก็ว่าหัวเมดูซ่าคู่นี้ถูกย้ายลงมาเมื่อสมัยโรมันล่มสลายลงและมีขนาดเหมาะเจาะที่จะเป็นฐานเสาที่เก็บนํ้าพอดี

Turkish Bad

 

 


 

 

เตอร์กิชบาธ (Turkish Bath) หรือ ฮามัม (Hamam) คือ การอาบนํ้าในห้องอบไอนํ้า แท้จริงตั้งแต่อดีตกาลใช้เรียกโรงอาบนํ้าสาธารณะ ซึ่งเป็นสถานที่ผ่อนคลาย และที่พบปะของผู้คนตั้งแต่ในอดีต วิธีอาบตามหลักจะเริ่มจากผ่อนคลายร่างกายในห้องอุ่น (warm room) ภายในห้องจะมีลมร้อนๆ แห้งๆ ไหลเวียนเพื่อให้รูขุมขนคลายและเหงื่อออก หลังจากนั้นจะย้ายไปห้องร้อน (hot room) สักพักก็เข้าห้องอาบนํ้าเย็น (cold water) เพื่อกระชับรูขุมขนและชำระร่างกายให้สะอาด ตามด้วยการนวดร่างกายและย้ายไปอยู่ในห้องเย็น (cooling-room) เพื่อผ่อนคลายร่างกายในขั้นตอนสุดท้าย

 


 

 

 

 

เมื่อพูดถึงความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิออตโตมันแล้ว จะไม่กล่าวถึงพระราชวังของสุลต่านก็จะกระไรอยู่ พระราชวังท็อปคาปิ (Topkapi Palace) ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ กันนี้ เป็นที่ประทับหลักของสุลต่านแห่งจักรวรรดิออตโตมันมากว่า 400 ปี ภายในพระราชวังใหญ่โตมโหฬารมาก มีห้องหับเป็นร้อยๆ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าตามร้อยๆ กว่าห้องนี้ มีทั้งสุเหร่า โรงพยาบาล ห้องอบขนม แม้กระทั่งโรงกษาปณ์ ฯลฯ ปัจจุบันพระราชวังแห่งนี้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเปิดให้ชมอยู่ไม่กี่ห้อง ไม่ว่าจะเป็นท้องพระโรง ห้องเก็บสมบัติ และบริเวณที่เลื่องลือดึงดูดให้คนทั่วโลกมายลก็คือ “ฮาเร็ม (Harem)” จะมีสักกี่คนทราบว่าฮาเร็มหลังแรกนั้นเกิดขึ้นในอาณาจักรออตโตมันในศตวรรษที่ 13 นี่แหละ และฮาเร็มที่มีชื่อที่สุดและใหญ่ที่สุด ก็คือฮาเร็มในพระราชวังท็อปคาปินี่เอง

 

Topkapi PalaceTopkapi Palace

 



รู้ไว้ใช่ว่า...
ความหมายที่แท้จริงของฮาเร็ม คือ สถานที่ต้องห้ามสำหรับบุรุษ (ไม่นับสามี ซึ่งจะมีแค่คนเดียวในที่นั้นๆ) และเป็นบริเวณสำหรับสตรีโดยเฉพาะในครอบครัวที่มีภรรยาหลายคน เหตุผลที่แท้จริงที่ต้องมีฮาเร็มนั้น ก็เพื่อทำตามคำสอนของศาสนาอิสลาม ที่ห้ามไม่ให้คนแปลกหน้าเห็นหน้าภรรยา ลูกสาวหรือข้าทาสสาว เลยต้องกั้นบริเวณพิเศษนี้ขึ้นมา แต่เวลาพูดถึงฮาเร็ม เราก็มักนึกถึงจำนวนสาวๆ มากมายรวมไปถึงความมั่งมีหรูหรา คนส่วนใหญ่เลยจะนึกถึงฮาเร็มของสุลต่านเสียมากกว่า ว่ากันว่าสุลต่านแต่ละองค์มีสาวๆ ในสต็อกเกือบ 300 ชีวิตเลยทีเดียว อย่างไรก็ดี สาวๆ ในฮาเร็มไม่ได้มีชีวิตที่สนุกสนานสำราญอย่างที่คิดกัน เพราะนอกจากต้องพยายามปรนนิบัติองค์สุลต่านเต็มที่แล้ว ยังต้องคอยหลีกเลี่ยงการทะเลาะเบาะแว้งกันเองอีก ทั้งจะออกไปไหนก็ไม่ได้ ดังจะเห็นได้ชัดเจนจากการลงกลอนใส่กุญแจจากภายนอกอย่างแน่นหนา ว่าแล้วสาวๆ แถวนี้คงจะเปลี่ยนใจกันเกือบไม่ทันเลยเชียว

HaremHarem in Topkapi Palace

 



มาว่าเรื่องอาหารการกินกันบ้าง... ที่เห็นเด่นๆ กินง่ายๆ และมีขายทั่วไปทั้งอยู่ในตู้และเทินอยู่บนศีรษะคนขาย คือ ขนมปังซิมิท (Simit) รูปร่างหน้าตาคล้ายขนมปังเบเกลโรยงา (คนอเมริกันเองยังเรียกขนมปังซิมิทว่า Turkish Bagel) ชาวตุรกีชอบกินขนมปังชนิดนี้คู่กับชาดำตุรกีกันมาก บ้างอาจรับประทานในตอนเช้าคู่กับแยมหรือชีส แต่ส่วนใหญ่มักรับประทานกันเปล่าๆ มากกว่า นอกจากนั้นเรายังมีเครื่องดื่มแปลกๆ มาแนะนำกัน คือ ไอราน (Ayran) เครื่องดื่มเย็นทำจากโยเกิร์ตผสมนํ้าเย็น เหยาะเกลือเล็กน้อย คนตุรกีดื่มเครื่องดื่มชนิดนี้กันเกือบทุกครัวเรือน ทั้งประเทศตุรกีเองก็เป็นผู้ผลิตรายใหญ่สุดของโลกอีกด้วย

 

Simit Bread

แหล่งซื้อสินค้าและของที่ระลึกในอิสตันบูลที่เด็ดๆ คือ แกรนด์บาซาร์ (Grand Bazaar) บาซาร์เป็นภาษาเปอร์เซีย แปลว่า ตลาด นั่นเอง... ตลาดแห่งนี้เป็นตลาดเก่าแก่สร้างตั้งแต่สมัยกลาง เมื่อ ค.ศ. 1461 ว่ากันว่าเป็นหนึ่งในตลาดในร่มที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในโลก (มีซอกซอยกว่า 60 ซอย ร้านค้ากว่า 5,000 ร้าน) มีข้าวของเครื่องใช้ศิลปะแบบตุรกีขายทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นของเก่า เครื่องแก้วเซรามิก เครื่องหนัง โคมไฟระย้าหลากสี เครื่องประดับ โดยเฉพาะพรมเปอร์เซียและทองที่มีร้านมากมายและเรียกได้ว่าใหญ่ที่สุดในตุรกี แน่นอนว่าเราควรต่อรองราคาให้พอสมนํ้าสมเนื้อ วิธีอมตะคือการต่อราคาแล้วเดินหนีก็ใช้ได้เช่นเดียวกัน ที่ตุรกีใช้หน่วยเงินเตอร์กิช ลีร่า (Turkish Lira) หรือ TRY ซึ่ง 1 TRY เท่ากับ 17 บาท (ตุลาคม 2555) แต่หากใครไม่อยากเสียเงินซื้อข้าวของก็สามารถไปนั่งชิมกาแฟตุรกีรสเข้มไม่เหมือนใคร หรือชาดำ ชาแอปเปิ้ลที่เลื่องลือของตุรกีได้ตามร้านกาแฟหน้าตาโบราณเช่นเดียวกัน

 

Grand BazaarGrand BazaarGrand Bazaar

 

 


เวลาเราสนใจสินค้าพวก พรมเปอร์เซีย ทอง เครื่องหนัง ฯลฯ พ่อค้ามักจะทักทายเราและเรียกเข้าไปนั่งในร้านก่อน แล้วจึงเสิร์ฟชาให้นั่งผ่อนคลาย ตามด้วยการนำสินค้ามาเสนอขายชิ้นต่อชิ้น ถ้าใครถูกเชื้อเชิญให้เดินเข้าร้านเช่นนี้ อย่าเพิ่งตกใจกันไปนะคะ เพราะนี่คือแบบปฏิบัติในการขายของของชาวตุรกีมาแต่ไหนแต่ไรแล้วค่ะ


 

 

Egyptian spice bazaarEgyptian market spice

 

เรายังมีตลาด (ของกิน) อีกที่ที่อยากแนะนำ นั่นคือตลาดนัดเครื่องเทศ (Egyptian Spice Bazaar) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากแกรนด์ บาซาร์ ตลาดแห่งนี้มีของขายตื่นตาตื่นใจไม่แพ้แห่งแรกแม้แต่นิดเดียว หากแต่เน้นที่สมุนไพรและเครื่องเทศหลากสี ถั่วหลากชนิด ผลไม้สด ผลไม้อบแห้งหลายแบบ แต่ที่แปลกตาที่สุดคงเป็นขนมก้อนสี่เหลี่ยมตัดเสมือนเยลลี่เหนียวใสหลากสี คลุกแป้งขาวๆ หรือมะพร้าว รสชาติหวานๆ เรียกว่า เตอร์กิช ดีไลท์ (Turkish Delight) หรือ โลคุม (Lokum) รสหลักๆ คือ สีแดงรสกุหลาบ สีเหลืองรสมะนาว และสีเขียวรสเปลือกส้ม ต้องลองชิมกันดูว่าจะสุขียินดีปรีดาเฉกเช่นชื่อเรียกกันหรือเปล่า นอกจากนั้น ยังมีขนมหวาน (จับจิตจับใจจริงๆ) นั่นคือ บาคลาว่า (Baklava) ให้ลองลิ้มชิมรส ลักษณะเหมือนพายชั้นอัดแน่นสอดไส้ด้วยถั่วบด (ที่เด็ดดวงคือถั่วพิสตาชิโอ) โดยทุกคำที่กัดลงไปจะชุ่มฉ่ำไปด้วยนํ้าเชื่อม (ถึงว่า... หวานจริงๆ) เชื่อกันว่าขนมบาคลาว่ามีต้นกำเนิดอย่างเป็นทางการจากพระราชวังท็อปคาปิในยุคจักรวรรดิออตโตมันมาก่อน ขนมชนิดนี้จะอร่อยเป็นพิเศษหากรับประทานคู่กับชาตุรกีหอมๆ ร้อนๆ แถมยังได้แรงเวลาเหนื่อยหนาวจากการเดินเที่ยวอีกด้วย

 

BaklavaTurkish Delight

 

 


คนตุรกีจะดื่มชาในแก้วใสเล็กๆ รูปร่างเหมือนดอกทิวลิป เรียกว่า ไช (çay) เป็นชาดำไม่ใส่นม แต่ใส่นํ้าตาลตามใจคนดื่ม รสชาติหอมขมนิดๆ ชานี้ปลูกกันตามชายฝั่งตะวันออกของทะเลดำ และเริ่มเป็นที่นิยมเนื่องจากกาแฟหายากหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา ชาตุรกีอยู่คู่กับสังคมวัฒนธรรมของชาตินี้มาช้านาน ดังจะเห็นจากการเชิญชวนให้แขกดื่มชาดังกล่าว เพื่อแสดงถึงการต้อนรับขับสู้อย่างเต็มที่จากเจ้าของบ้าน นอกจากชาดำ ยังมีชาสมุนไพรให้เลือกสรรเพิ่มเติม โดยรสที่นิยมไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าชาดำคือรสแอปเปิ้ลหอมกรุ่น

 

Turkish Tea & Apple TeaTurkish Tea


 

เดินออกมาจากตลาดเครื่องเทศ เราจะเห็นลานกว้างๆ ถัดมาคือสุเหร่านิวมอสก์ (New Mosque) และสะพานกาลาตา (Galata) ซึ่งเราแนะนำเป็นอย่างสูงให้ข้ามสะพานไป เพราะนอกจากเราจะเห็นวิวสวยๆ ของเมืองเก่าทั้งสองฝั่ง รวมทั้งช่องแคบบอสฟอรัส (Bosphorus) ที่เป็นพรมแดนธรรมชาติแบ่งอิสตันบูลออกเป็นยุโรปและเอเชียแล้ว เรายังจะเห็นวิถีชีวิตของคนอิสตันบูลที่รักการตกปลา (มีคนตกปลาตั้งแต่ริมสะพานด้านหนึ่งไปจนถึงอีกด้านเลยทีเดียว) ซึ่งถ้าข้ามสะพานมาแล้วจะเห็นตลาดและสะพานปลาขายกันสดๆ พร้อมปรุงตรงนั้นเลย ยิ่งถ้ามีโอกาสได้ลิ้มลองอาหารทะเลที่นี่แล้ว บอกได้ว่าสดอร่อยแบบไม่ต้องพึ่งนํ้าจิ้มซีฟู้ดบ้านเราจริงๆ ค่ะ

 

 

Bosphorus Channal@Bosphorus Channal

 


เนื่องจากตุรกีเป็นประเทศที่ใหญ่ (มากกก… ลากเสียงยาว) เราจึงเลือกนั่งสายการบินต้นทุนตํ่า เพกาซัส แอร์ไลน์ (Pegasus airline) จากอิสตันบูลมายังสนามบินเมืองไคเซรี (Kayseri) และเช่ารถต่อตลอดการเดินทางในช่วงนี้ เราขับรถจากเมืองไคเซรีไปยังดินแดนคัปปาโดเกีย (Cappadocia) แผ่นดินที่มี
ภูมิประเทศพิเศษไม่มีแห่งใดเหมือนเกิดขึ้นจากการระเบิดของภูเขาไฟเมื่อ 3 ล้านปีก่อน เมื่อลาวาไหลออกมาก็กระจายไปทับถมกลายเป็นแผ่นดินชั้นใหม่ ประกอบกับการกัดเซาะจากลม ฝน แดด หิมะ และที่สำคัญคือกระแสนํ้ามานานกว่าล้านปี จึงเกิดเป็นหินสารพัดรูปทรง ไม่ว่าจะเป็นรูปกระโจม ปล่อง กรวย ฯลฯ แลดูเหมือนในเทพนิยาย จนคนพื้นเมืองเรียกกันว่าดินแดนแห่ง “ปล่องไฟนางฟ้า (Fairy Chimney)” ซึ่งใน ค.ศ. 1985 พื้นที่นี้ก็ได้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมแห่งแรกของตุรกี โดยเราเริ่มต้นที่เมืองเกอเรเม่ (Göreme) ศูนย์กลางหลักของดินแดนคัปปาโดเกีย ถ้ามีเวลาไม่มากและอยากเห็นภูมิทัศน์หลักของที่นี่ เราขอแนะนำให้ไปพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งเกอเรเม่ (Göreme open air museum) เพราะจะได้เห็นสถาปัตยกรรมโบราณอันน่าทึ่ง นั่นคือ การขุดเจาะถํ้าหินเข้าไปสร้างโบสถ์เมื่อศตวรรษที่ 4 ซึ่งตามฝาผนังจะมีจิตรกรรมโบราณของนักบวชเต็มไปหมด เนื่องจากถํ้าต่างๆ เกิดจากลาวาและหินที่ยังไม่แข็งตัวเต็มที่ ชาวบ้านเลยใช้โอกาสนี้ขุดเจาะทำเป็นโบสถ์และบ้านเรือนไปทั่วดินแดน ที่นี่มีบริการบอลลูนพานักท่องเที่ยวไปชื่นชมดินแดนคัปปาโดเกียในมุมกว้างเช่นเดียวกัน สนนราคาประมาณ 150 ยูโรต่อคนต่อชั่วโมง (ตุลาคม 2555) ราคานี้มักจะรวมประกันภัยเรียบร้อยแล้ว มาอยู่แถวนี้ทั้งที ถ้าไม่ลำบากนัก เราแนะนำให้ลองพักค้างคืนในโรงแรมที่ทำห้องพักคล้ายภูเขาหินเจาะ จะได้ทราบว่าคนท้องถิ่นสมัยก่อนเขาอยู่กันอย่างไร

 

Cappadocia

GoremeCappadocia


อีกเมืองไม่ไกลจากเกอเรเม่คือเมืองอุซฮิซาร์ (Uchisar) ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่ยกสูงที่สุดในแถบนี้ สังเกตเห็นได้แต่ไกล เพราะลักษณะเมืองเป็นก้อนหินใหญ่มหึมาอยู่ใจกลางเมือง นั่นคือปราสาทแห่งเมืองอุซฮิซาร์ โดยชาวบ้านขุดเจาะเข้าไปภายในเพื่อสร้างเป็นที่อยู่อาศัย หากแต่ยังคงสภาพภายนอกไว้ให้เหมือนตามธรรมชาติ ถ้าดูข้างนอก จะเห็นเป็นก้อนหินใหญ่น่าเกลียด แต่แท้จริงแล้วมีผู้คนอาศัยอยู่ เป็นเมืองหนึ่งที่ไม่ควรพลาดเลยทีเดียว อาจสงสัยว่าทำไมผู้คนสมัยก่อนไม่สร้างบ้านปกติอยู่กัน เหตุที่แท้จริงเพราะตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล ดินแดนนี้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของโรมัน ชาวโรมันต้องการกำจัดชาวคริสเตียนที่อาศัยอยู่แต่เดิม ชาวบ้านเลยต้องหลบหนีการรังควานของชาวโรมัน จึงสร้างโบสถ์คริสต์ขึ้นมาที่เกอเรเม่ ทั้งยังต้องเจาะถํ้า ขุดดินลงไปให้เป็นห้องหับอาศัยกัน ในที่สุดก็เกิดเมืองใต้ดินขึ้นมาหลายแห่งในแถบนี้ แต่ที่เราไปชมกัน คือ เมืองใต้ดินที่ใหญ่ที่สุดในบริเวณดังกล่าว ไคมัคลี (Kaymakli Underground City) จากทางเข้าที่ดูเหมือนไม่มีอะไรอยู่ข้างใต้ เรามุดลงไปพบกับเรื่องราวในอดีตอันเหลือเชื่อ เมืองใต้ดินนี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านกว่า 5,000 คน เพื่อหลบซ่อนศัตรู มีทั้งหมด 8 ชั้นลึกลงไปใต้ดิน (ราว 85 เมตร)  แต่เปิดให้เข้าชมเพียง 4 ชั้นเท่านั้น โดยชั้นที่ลึกสุดที่เปิดให้ดูอยู่ที่ 20 เมตรลงไปใต้ดิน ห้องหับแบ่งเป็นโบสถ์ ห้องนอน ห้องครัว ห้องอาหาร ห้องถนอมอาหาร ห้องบ่มไวน์ ห้องเลี้ยงสัตว์ (อยู่ชั้นบนสุดเนื่องจากลำบากในการขนย้าย) ใครๆ ก็มักฉงนกับเรื่องการถ่ายเทอากาศใต้ดิน แต่พื้นที่ดังกล่าวเกิดจากภูเขาไฟมาก่อน รูพรุนของหินภูเขาไฟจึงรักษาอุณหภูมิไว้ได้ และหมุนเวียนอากาศได้ดี จึงเกิดระบบระบายอากาศธรรมชาติอันน่าพิศวงขึ้นมา

UchisarKaymakli Underground City

 

 

Mevlava Dance

 

 

 

 

 

ผ่านมาแถวเมืองคอนย่า (Konya) เราต้องขอแวะชมการแสดงพื้นเมืองหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือ ระบำเมฟลานา (Mevlana) เป็นการระบำในพิธีเฉลิมฉลองเพื่อรำลึกถึงเมฟลานาผู้ก่อตั้งนิกายเมฟเลวี (Mevlevi) (คือยอดกวีแห่งตุรกี หลายคนเชื่อว่าเป็นผู้วิเศษแห่งอิสลามเพราะสามารถชักชวนคริสตชนให้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามได้จำนวนมาก) ด้วยการเต้นรำเซม่า (Sema Dance) ที่เป็นเอกลักษณ์ โดยเหล่าสาวกสำนักจะสวมชุดกระโปรงยาวบานสีขาว สวมหมวกทรงกระบอก ออกมาร่ายรำหมุนตัวไปรอบๆ ให้เข้ากับจังหวะดนตรีที่มีท่วงทำนองลี้ลับ อันแสดงออกซึ่งความตายและการรวมเข้ากันเป็นหนึ่งกับพระอัลเลาะห์

 

 

 

 

 

 

 

 


อีกหนึ่งอย่างที่พลาดไม่ได้ คือ การชมระบำหน้าท้อง (Belly Dance) แท้จริงสิ่งนี้เกิดในแถบประเทศอียิปต์มากว่า 6,000 ปีแล้ว ว่ากันว่าชนเผ่ายิปซีคือกลุ่มที่สืบทอดการแสดงนี้มาจนถึงปัจจุบัน เป็นการร่ายรำที่เน้นการเคลื่อนไหวของสะโพกและกล้ามเนื้อส่วนท้อง โดยใช้เทคนิคการเคลื่อนไหวแบบแยกส่วน ผู้แสดงเป็นหญิง มักแต่งกายด้วยเสื้อคล้ายชุดชั้นในของผู้หญิงและพันผ้าบางๆ รอบเอวประกอบการพลิ้วไหว หนุ่มๆ บางคนถึงขั้นหัวใจจะวายได้เลยค่ะ


 

 

ChimeraChimera

 

สำหรับคนที่ชื่นชอบธรรมชาติและปรากฏการณ์ (เหนือ) ธรรมชาติ เราแนะนำให้ไปเที่ยวที่ยานาร์ตัส (Yanartas) ซึ่งมี The Chimaera: Eternal Flames หรือ Flaming Rocks อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติใกล้จังหวัดอันตัลยา (Antalya)  บริเวณเหนือหมู่บ้านชิราลี (Çirali) ในหุบเขาโอลิมพอส (Olympos) มีลักษณะพิเศษทางภูมิศาสตร์เกิดขึ้น คือ มีเปลวไฟลุกจากก้อนหินตามภูเขาทั่วทั้งลูก ตลอดทั้งวันทั้งคืน ที่แปลกคือเราไม่เห็นแม้แต่เชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดไฟเลย กล่าวกันว่าไฟลุกออกมาได้ เพราะภายในภูเขาเกิดก๊าซจากนํ้าใต้ดินและการเปลี่ยนแปลงความดันอากาศภายใน จึงไหลออกมาตามซอกภูเขาและลุกไหม้มากว่า 2,500 ปีแล้ว การไปชมไม่ยากเลยค่ะ เพียงแต่ต้องเริ่มเดินจากตีนเขาในอุทยานขึ้นไปประมาณ 1 กิโลเมตร (เสียใจด้วยนะคะ... รถเข้าไม่ถึง ต้องเดินเท่านั้นเลย) เสียค่าเข้าชมประมาณ 4 TRY หลายสำนักแนะนำให้ไปตอนกลางคืนที่สามารถเห็นไฟพวยพุ่งออกมาอย่างชัดเจน แต่เราห่วงเรื่องความปลอดภัย จึงตัดสินใจไปตอนกลางวัน เลยได้ของแถมเป็นวิวสองข้างทางและวิวทะเลเมดิเตอร์เรเนียนอยู่ลิบๆ

 

 

Evil Eye

 

 

 

 

ของที่ระลึกเป็นลูกหินกลมๆ รูปตาสีฟ้าที่พบได้ทั่วตุรกี คือ Evil eye ค่ะ ชาวตุรกีเชื่อว่าเครื่องรางนี้สามารถป้องกันดวงตาแห่งความชั่วร้าย (ความประสงค์ร้ายสามารถส่งผ่านตาได้) ชาวบ้านจึงสร้างดวงตาสีฟ้านี้เพื่อขับไล่ดวงตาแห่งความอิจฉาริษยาที่คอยจ้องทำลายให้เกิดสิ่งที่ไม่ดีขึ้น โดยมักแขวนไว้ตามบ้านเรือนโดยเฉพาะตรงทางเข้าบ้าน ซึ่งความเชื่อนี้ได้แพร่ขยายไปทั่วแถบตะวันออกกลาง ทะเลอีเจียน  และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ดังจะเห็นได้ในประเทศเพื่อนบ้านของตุรกี เช่น กรีซ ก็มีดวงตาสีฟ้านี้วางขายดาษดื่นเช่นเดียวกัน

 

 

 

 

ใครอยากไปเห็นสรวงสวรรค์ของคนโรมันสมัยก่อน ต้องไปปราสาทปุยฝ้ายหรือปามุคคาเล (Pamukkale: Cotton Castle) อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวใกล้จังหวัดเดนิสลี (Denizli) ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวไม่น้อย เนื่องจากแปลกตาจนไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นบนโลก หากแต่อย่าผิดหวังกับสภาพที่แท้จริงในทุกวันนี้ เพราะถ้าดูรูปเก่าๆ เราจะเห็นภาพของเนินเขาสีขาวเป็นแอ่งๆ มีนํ้าสีฟ้าใสอยู่ภายใน แต่ละชั้นลดหลั่นกันเสมือนเป็นขั้นบันไดหรือระเบียงสวรรค์ก็ไม่ปาน แต่ตอนนี้ เราจะไม่เห็นนํ้าสีฟ้าล้นเอ่ออยู่ในแอ่งมากมายอย่างในอดีต เนื่องจากนํ้าพุร้อนมีน้อยลง ทางการเลยสลับการไหลของนํ้าพุร้อนให้ไหลลงบางแอ่งเท่านั้น ทั้งยังต้องถอดรองเท้าเดินเพราะทางการกลัวว่าพื้นรองเท้าจะไปทำลายหินปูนเอา โดยคนที่มาเที่ยวจะแช่ตัวอยู่ตามแอ่งนํ้าสีฟ้า เนื่องจากเชื่อกันว่าเป็นนํ้าแร่มีสรรพคุณพิเศษ อย่าสงสัยกันไป... เนินเขาสีขาวนั้น เกิดจากนํ้าพุร้อนที่นำแคลเซียมคาร์บอเนตมาตกตะกอนและก่อตัวขึ้นมาเป็นชั้นๆ แลดูเหมือนปราสาทปุยฝ้ายตามชื่อ ว่ากันว่าหลังจากชาวโรมันค้นพบเนินเขาสีขาวที่เต็มไปด้วยแหล่งนํ้าร้อนตั้งแต่สมัยก่อนคริสตกาล ก็เนรมิตที่แห่งนี้ให้เป็นเมืองสปาของตน ดังจะเห็นได้จากซากปรักหักพังที่อยู่ข้างบนสุดของยอดเขาที่ชื่อว่า เมืองโบราณเฮียราโพลิส (Hierapolis) ซึ่งเป็นมรดกโลกร่วมกับปามุคคาเลในปี ค.ศ. 1988

 

PamukkalePamukkalePamukkaleHierapolis

 

 

Lycian Tomb

 

 

อีกสถานที่แปลกตา คือ โบราณสถานของชาวไลเคียน (Lycian) ตั้งแต่ช่วงต้นยุคสำริด ทางภาคใต้ของประเทศ ภูมิภาคไลเคียนี้ มีชาวไลเคียนอยู่อาศัยตั้งแต่สมัยก่อนคริสตกาล โดยศิลปะที่เห็นได้ชัดเจนตามภูเขา คือ สถาปัตยกรรมแบบหินตัด (Rock-Cut) เป็นการเจาะหินเข้าไปเป็นห้องๆ ในภูเขา เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ ซึ่งในภูมิภาคนี้เราจะเห็นที่ฝังศพในภูเขา (Rock-Cut Tomb) เต็มไปหมด ผู้ที่จะมีหลุมศพตามภูเขาได้ ต้องเป็นคนสำคัญหรือร่ำรวยอยู่ไม่น้อยในอดีต โดยเราขอแนะนำให้ไปดูที่เมืองไมร่า (Myra) และดัลยัน (Dalyan) แต่ใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงสุดที่เมืองเฟทิเย (Fethiye) ในตุรกีตอนใต้นี่เอง

 

 

 

Atatürk

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ในประเทศตุรกี เรามักจะพบบุคคลหนึ่งในรูปภาพหรือตามอนุสาวรีย์ได้โดยทั่ว บ้างก็ถึงขั้นแกะสลักหน้าท่านไว้บนภูเขาทั้งลูกเลยก็มี... บุคคลผู้นั้น คือ มุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก (Mustafa Kemal Atatürk - นิยมเรียกว่า อตาเติร์ก แปลว่าบิดาของชาวเติร์ก) ท่านเป็นผู้สถาปนาสาธารณรัฐตุรกีและเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐตุรกี ทั้งยังเป็นบุคคลสำคัญในการกอบกู้เอกราชของตุรกีและปฏิรูปประเทศชาติในหลายด้าน โดยเปลี่ยนแปลงประเทศจากจักรวรรดิออตโตมันเดิม ให้เป็นรัฐชาติแบบใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยและไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา


ใกล้จะเสร็จสิ้นการเดินทางแล้ว เราขอแวะไปดูซากเมืองโรมันโบราณเอเฟซุส (Ephesus) ซึ่งในอดีตเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของโรมันบนคาบสมุทรอนาโตเลีย เรียกได้ว่าเป็นเมืองหลวงแห่งเอเชียของอาณาจักรโรมันเลยทีเดียว อาคารที่เป็นสัญลักษณ์ของที่นี่เห็นจะเป็นห้องสมุดของเซลซุส (Library of Celsus) ด้านหน้าอาคารยังคงสมบูรณ์อยู่ (เนื่องจากสร้างขึ้นมาใหม่จากชิ้นส่วนดั้งเดิม) มีรูปปั้นเทพีทั้งสี่ ตัวแทนแห่งปัญญา ความดี ความคิดและความรู้  ภายในมีห้องหนังสือและช่องเก็บหนังสือกว่า 12,000 ม้วน ห้องสมุดแห่งนี้สร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแด่นายกเทศมนตรีทิเบอริอุส ยูลิอุส เซลซุส โพเลเมอานุส (Tiberius Julius Celsus Polemaeanus) ภายใต้ห้องสมุดแห่งนี้มีหลุมฝังศพของท่านอยู่ด้วย อีกแห่งที่ผู้มาเอเฟซุสอาจจะผิดหวังเล็กน้อย คือ วิหารอาร์เทมิส (Temple of Artemis) หนึ่งใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคโบราณ มีเสามากมายถึง 127 ต้น ว่ากันว่ามีขนาดใหญ่โตกว่าวิหารพาร์เธนอน (Parthenon) ในเอเธนส์ด้วยซํ้า แต่วิหารนี้ถูกทำลายลงหลายครั้ง ทั้งยังไร้คนเหลียวแล เนื่องจากเมื่อศาสนาคริสต์เข้ามามีอิทธิพล ผู้คนก็ละทิ้งการเคารพบูชาเทพเจ้าโรมัน จนปัจจุบันนี้น่าใจหายเป็นที่สุด เพราะหลงเหลือแค่เสาเพียงต้นเดียวเท่านั้น นอกจากนี้วิหารแห่งจักรพรรดิเฮเดรียน (Temple of Hadrian) ก็เป็นอีกแห่งที่น่าไปยล เนื่องจากสถาปัตยกรรมยังสมบูรณ์อยู่มาก วิหารแห่งนี้สร้างเพื่อถวายแด่จักรพรรดิเฮเดรียนแห่งอาณาจักรโรมัน สถานที่ที่เราชอบ (มาก) และแอบเอามาฝากกัน คือ สุขารวมโบราณในสมัยนั้น (ขอเน้นว่า “รวม”) ซึ่งดูแล้วน่าลองไปปลดทุกข์อยู่ไม่หยอก เมืองโบราณแห่งนี้แลไปก็คล้ายๆ เมืองโบราณของกรีกโรมันทั่วไปในกรีซ หากแต่ความพิเศษของที่นี่คือ ซากเมือง ที่ในปัจจุบันยังมีหลงเหลือให้เห็นอยู่มาก ถือว่ายังสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกก็ว่าได้ เดินไปเดินมาแถวนี้ จะเห็นคนดื่มเบียร์เอเฟซ (Efes) ขวดป้อมๆ มีฉลากสีนํ้าเงิน กันเต็มไปหมด เห็นว่าเบียร์ยี่ห้อนี้ตั้งชื่อตามเมืองโบราณเอเฟซุสนี่แหละ โดยเกิดเมื่อราว ค.ศ. 1969 (แต่สำนักงานใหญ่อยู่ที่อิสตันบูล) และมีชื่อมากขนาดส่งออกไปตามประเทศเพื่อนบ้านเป็นทิวแถว ต้องลองชิมกันดูนะคะว่าจะสู้เบียร์แถวเยอรมนีได้หรือเปล่า

Library of Celsus EphesusToilets of EphesusTemple of Hadrian

 


จริงอยู่ว่าประชากรตุรกีเกือบทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลาม (นิกายสุหนี่ 80% และนิกายชีอะห์ 20%) แต่อาจเป็นเพราะประวัติศาสตร์ที่ถูกปกครองด้วยชาวโรมันมาก่อนและชนชาติที่อาศัยอยู่ไม่ใช่ชาวอาหรับ แต่เป็นชาวเติร์กราวๆ 80% และชาวเคิร์ดประมาณ 20% ทำให้ความเคร่งศาสนาอิสลามในตุรกีไม่สูงมาก จะเห็นได้จากจำนวนสุนัขที่มีให้เห็นโดยทั่วไป ทั้งอาหารที่มีเนื้อหมูยังหาได้ตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ อีกมาก โดยอีกเหตุผลที่ส่งเสริม คือความใกล้เคียงและคุ้นเคยกับชาวตะวันตก เพราะตุรกีมีดินแดนบางส่วนอยู่ในทวีปยุโรป ทั้งยังมีอาณาเขตติดกับทวีปยุโรปอีกด้วย


 

Shish KebabDoner Kebab


มาถึงดินแดนดั้งเดิมแห่งเคบับทั้งที  ถ้าไม่ลอง “เตอร์กิช เคบับ” เดี๋ยวจะหาว่ามาไม่ถึง เราเลยขอเล่าประสบการณ์ลองเคบับ อาหารประจำชาติตุรกีบ้าง เดอเนอร์ เคบับ หรือ Döner Kebab ในภาษาท้องถิ่นคือเนื้อเป็นชิ้นๆ (ของดั้งเดิมใช้เนื้อแกะ) วางทับกันเป็นก้อนแล้วเสียบแท่งเหล็กย่างในแนวตั้ง พอสุกก็เฉือนออกมากินกับแป้งขนมปังและผักสลัด (ที่ประเทศกรีซก็มีคล้ายๆ กันแต่เรียกว่า กีรอส - Gyros) เคบับทำได้หลายแบบ ถ้าแบบเดอเนอร์ เคบับ คือแบบหมุน แต่ ชิช เคบับ (Shish Kebab) คือ แบบเนื้อเป็นก้อนๆ เสียบไม้ย่างในแนวนอน (แบบบาร์บีคิว) และท่านผู้อ่านจะต้องไม่เชื่อแน่ๆ เพราะเราค้นพบว่า เตอร์กิชเคบับนั้น รสชาติไม่เหมือนเคบับที่เคยลิ้มรสกันตามที่อื่นๆ ตรงที่รสไม่ฉํ่าเนื้อเท่า อาจเป็นเพราะลักษณะของเนื้อและวิธีหมักเครื่องเทศที่ต่างกันไป อย่างไรก็ตามยังอยากแนะนำให้คนที่ไปเที่ยวตุรกีลิ้มลองกันอยู่ดี เพราะเดี๋ยวจะเหมือนว่ายังมาไม่ถึงจริงๆ ประมาณว่า “ไม่ลอง ไม่รู้” นะคะ

Cappadokia

 

นิตยสาร opnmnd ฉบับเต็มสามารถดาวน์โหลดได้ ที่นี่

 

Share
 
Copyright © 2023 Jan Punnaporn. All Rights Reserved.